โคตรเศร้า! ชีวิตเด็กไทยส่วนใหญ่ ตกเป็นเหยื่อทางเพศออนไลน์

เด็กมากกว่า 20% มีโอกาสตกเป็นเหยื่อทางเพศออนไลน์ โดยไทยมีจำนวนรายงานการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์รั้งอันดับ 2 ของโลก และเว็บมืดเติบโตขึ้น 5 เท่า!

ข้อมูลนี้ สร้างความหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่ง

คนร้าย 1 คน สร้างเหยื่อเด็กได้ถึง 1,000 คน

เด็ก 20% มีโอกาสตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์

เมื่อตกเป็นเหยื่อแล้ว พบว่า 56% ของเด็กเลือกที่จะไม่บอกใคร!!!

และไทยมีจำนวนรายงานการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์รั้งอันดับ 2 ของโลก

เปิดเผยข้อมูลโดย พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ในฐานะผู้ปฏิบัติงานในชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ระหว่างที่ให้ความรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์กับเด็กๆ ในโรงเรียนพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งร่วมกับ ดีแทคและกรุงเทพมหานคร

พ.ต.อ.รุ่งเลิศ ระบุว่า ถ้าดูจากสถิติที่ได้รับรายงานจาก NCMEC พบว่า ตั้งแต่ปี 2562 ประเทศไทยได้รับรายงานการตรวจพบสื่อลามกอนาจารเด็กเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในปี 2562 พบ 117,213 รายงาน ในปี 2563 พบ 396,049 รายงาน ในปี 2564 พบ 586,582 รายงาน และในปี 2565 พบ 523,169 รายงาน

ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า เว็บมืดซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กในไทยยังมีการเติบโตสูงถึง 5 เท่า!!!

“การสื่อสารออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยให้ผู้กระทำผิดเข้าถึงตัวเด็กได้ง่ายและรวดเร็ว ใช้ประโยชน์จากความเปราะบางของเด็กเพื่อหลอกลวง บีบบังคับ ชักชวน และแสวงหาประโยชน์จากพวกเขา กลไกการคุกคามของอาชญากรถือเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง ทำลายซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรี และความมั่นคงของมนุษย์”

พ.ต.อ.รุ่งเลิศ กล่าว

ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนในสังกัด กทม. ทั้งสิ้น 437 โรงเรียน ครอบคลุม 50 เขต นักเรียนทั้งสิ้น 261,160 คน นับตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับ dtac Safe Internet ในการอบรมความรู้ด้านความปลอดภัยในการใช้งานออนไลน์ให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครอายุระหว่าง 11-13 ปี (ป.5-6) จำนวน 50 โรงเรียน กว่า 10,000 คน

จากการลงพื้นที่อบรมที่ผ่านมา พบว่า นักเรียนราว 3% เคยถูกร้องขอ ข่มขู่หรือกดดันให้ส่งรูปภาพหรือทำพฤติกรรมทางเพศทางออนไลน์ 13% เคยส่งรูปภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลส่วนตัวให้คนแปลกหน้า และ 3% เคยได้รับภาพ ข้อความหรือวิดีโอที่มีเนื้อหาส่อไปทางเพศ โดยช่องทางที่มิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามา ประกอบไปด้วย ช่องทางโซเชียลมีเดีย เกมส์ออนไลน์ รวมถึงแอปพลิชันใหม่ๆ ที่ผู้ใหญ่ยังไม่คุ้นเคย

ปัญหานี้อาจยิ่งทวีความรุนแรงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะความเหลื่อมล้ำทั้งในเรื่องของความรู้ในการป้องกันและใช้งานเทคโนโลยี

ฝากสังคมอีจันทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตาในโลกออนไลน์ เพื่อดูแลเด็กๆ นะคะ

คลิปอีจันแนะนำ
เบนท์ลีย์ซิ่งชน ปาเจโร-รถดับเพลิง พังยับ!