ท้องผูกปัญหาใหญ่ที่อาจจะส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรังได้

หลายคนที่กำลังเจอกับอาการปวดหลังแล้วกำลังหาต้นตอสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร ซึ่งหลายคนอาจจะมองข้ามปัญหานี้ไปนั้นก็คืออาการท้องผูกนั้นเอง แล้วอาการปวดหลังของเราเกี่ยวอะไรกับอาการท้องผูกวันนี้เราจะพาไปดูกันว่าอาการท้องผูกส่งผลให้เราปวดหลังจริงหรือไม่ไปดูกันเลย

อาการปวดหลังส่วนล่างเป็นยังไง?
อาการปวดหลังส่วนล่าง (Low back pain) หมายถึงอาการปวดหลัง อาการกล้ามเนื้อหลังตึง หรืออาการหลังแข็งในตำแหน่งหลังชายโครงไปถึงส่วนล่างของแก้มก้น

อาการปวดหลังส่วนล่างนั้น อาจจะปวดหน่วง ๆ ปวดร้าวบริเวณหลังส่วนล่าง บริเวณสะโพก และบางกรณีจะมีอาการร่วมกับอาการปวดร้าวลงไปที่ขาค่ะ อาการปวดหลังอาจจะเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการปวดมากขึ้นตามการใช้งาน และหากการปวดหลังส่วนล่างมีอาการกดทับเส้นประสาทร่วมด้วย จะมีอาการปวดร้าวลงบริเวณสะโพกและลงบริเวณขา ร่วมกับมีอาการชา ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนปกติ

อาการปวดหลังส่วนล่าง หรือปวดบริเวณบั้นเอวเรื้อรังนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุค่ะ ทั้งจากสาเหตุบริเวณหลังเอง เช่น กล้ามเนื้อหลังอักเสบหรือเคล็ด หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนหรือเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังยุบตัว กระดูกติดเชื้ออักเสบ หรือกระดูกสันหลังเสื่อม หรือจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น จากอวัยวะภายในอย่างเส้นเลือดใหญ่ ตับอ่อน ไต กระเพาะอาหาร ลำไส้ เป็นต้น

ท้องผูกกับอาการปวดหลัง เกี่ยวกันอย่างไร
จากสาเหตุของการปวดหลังที่กล่าวมา คุณแทบจะไม่เห็นความเกี่ยวกันระหว่างท้องผูกกับอาการปวดหลังเลยใช่ไหมคะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่เรามีภาวะท้องผูก หรือท้องผูกเรื้อรังจะส่งผลต่อความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหมอนรองกระดูก ซึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหมอนรองกระดูก จะส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังอย่างชัดเจน และส่วนนี้นี่เองที่ทำให้ท้องผูกกับอาการปวดหลังมีความเชื่อมโยงกัน

ท้องผูกเป็นสาเหตุให้หมอนรองกระดูกทำงานหนัก
หมอนรองกระดูกคืออวัยวะนิ่ม ๆ ที่คั่นอยู่ระหว่างปล้องกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกทำหน้าที่ช่วยให้หลังของเรามีความยืดหยุ่นค่ะ และหน้าที่สำคัญของหมอนรองกระดูกก็คือการรองรับน้ำหนักของกระดูกสันหลัง การที่เราสามารถก้มหน้า เอนหลัง หรือแอ่นไปมาได้นั่นก็เพราะการทำงานของหมอนรองกระดูกเหล่านี้

ลักษณะของหมอนรองกระดูกจะมีเปลือกภายนอกหุ้มของเหลวคล้ายเจลลี่ด้านใน เปลือกของหมอนรองกระดูกนั้นมีลักษณะหยุ่น ๆ คล้ายยางลบ ส่วนไส้ข้างในจะมีลักษณะนิ่ม ๆ เหมือนเจลลี่ และเมื่อเราใช้งานหมอนรองกระดูกไปนาน ๆ หมอนรองกระดูกก็จะเสื่อมสภาพไปตามอายุ การเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกนั้น เปลือกด้านนอกที่เคยยืดหยุ่น จะมีความแข็งและขาดความยืดหยุ่นไป ทำให้ของเหลวหรือเจลลี่ด้านในทะลักออกมา เราเรียกอาการนี้ว่า หมอนรองกระดูก “ปลิ้น”

การปลิ้นออกของหมอนรองกระดูกนี้จะส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด อักเสบ และอาจเกิดอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้ปวดหลังได้ และภาวะท้องผูกนั้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้หมอนรองกระดูกทำงานหนักเกินความจำเป็น และทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพเร็วขึ้น จากสาเหตุดังนี้ค่ะ

หมอนรองกระดูกทำงานหนักจากการนั่งในห้องน้ำนาน
ปกติแล้วหมอนรองกระดูกทำหน้าที่รองรับน้ำหนักกระดูกสันหลัง ในท่ายืน หมอนรองกระดูกจะรับน้ำหนักของกระดูกสันหลังน้อยกว่าท่านั่งถึงเท่าหนึ่ง เมื่อเรานั่งนาน ๆ โดยเฉพาะนั่งในท่าที่โน้มตัวไปข้างหน้า หมอนรองกระดูกจะต้องรับน้ำหนัก รับแรงกระแทกมากขึ้นถึง 2 เท่าตัว ดังนั้นเมื่อเรามีอาการท้องผูก ขับถ่ายยาก แน่นอนใช่ไหมคะว่า เราจะต้องนั่งในห้องน้ำนานแสนนาน เพราะเราอึไม่ออก ซึ่งการนั่งในห้องน้ำนาน ๆ เกินความจำเป็นนี่แหละค่ะที่ทำให้หมอนรองกระดูกของเสื่อมสภาพได้ง่ายขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะทำให้หมอนรองกระดูกถูกดันไปด้านหลัง ทำให้เกิดปูดและไปทับเส้นประสาทได้ง่ายอีกด้วย

ท้องผูก อุจจาระตกค้าง กดแน่นในลำไส้ กดทับเส้นประสาทอุ้งเชิงกราน
อาการท้องผูกนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะมาพร้อมกับภาวะอุจจาระตกค้าง ซึ่งเป็นภาวะที่เราขับถ่ายอุจจาระออกไม่หมด ทำให้มีการตกค้างอยู่ภายในลำไส้ และหากเราปล่อยให้ท้องผูกเรื้อรังเป็นเวลานาน จนอุจจาระเกาะติดแน่น เมื่อมีอุจจาระใหม่ก็จะเกิดอาการท้องผูกสะสม อุจจาระใหม่ก็ไม่สามารถขับอุจจาระเก่าออกไปได้ กลายเป็นของเสียที่แข็งติดแน่นสะสมในลำไส้ และอุจจาระที่อัดแน่นภายในลำไส้นั้น มันจะไปกดทับเส้นประสาทในอุ้งเชิงกราน ทำให้และก่อให้เกิดอาการปวดหลังขึ้นได้

จากการท้องผูกที่ส่งผลให้ปวดหลังทั้งสองกรณี เมื่อก่อให้เกิดอาการปวดหลังขึ้นมาแล้ว ก็จะทำให้คุณต้องไปหาคุณหมอเพราะอาการที่ปวดหลังเรื้อรังอย่างไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งโดยส่วนใหญ่กลุ่มคนที่ปวดหลังนี้ ต้องได้รับการรักษาด้วยยาลดปวดหรือคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งยาทั้งในกลุ่มนี้ จะส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกได้อีก และเมื่อเกิดอาการท้องผูกอีก ก็จะทำให้อาการปวดหลังที่เป็นอยู่อาการแย่ลง และปวดหลังเรื้อรังต่อเนื่องไป

แนวทางการรักษาท้องผูกที่เกิดร่วมกับการปวดหลัง
เมื่อเราทราบกันแล้วว่า ท้องผูกกับอาการปวดหลังมีความเกี่ยวพันกันอย่างมาก เราก็มาดูกันต่อว่าจะดูแลสุขภาพ หรือป้องกันรักษาอาการท้องผูกเพื่อลดความเสี่ยงในการปวดหลังได้อย่างไรบ้าง

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
อาการท้องผูกสัมพันธ์กับการกินอย่างมากค่ะ ถ้าปกติคุณทานผักน้อย ทานผลไม้น้อย หรือไม่ค่อยได้สนใจว่าอาหารที่ทานมีไฟเบอร์เพียงพอหรือเปล่า ควรปรับเปลี่ยนมาทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานอาหารที่มีกากใยหรือไฟเบอร์ให้เพียงพอ เพราะกากใยอาหารจะช่วยรักษาสมดุลของระบบขับถ่าย คุณควรบริโภคใยอาหาร 25 ถึง 30 กรัมต่อวัน และอาหารที่มีไฟเบอร์สูงก็เช่น ผลไม้ ผัก ขนมปังโฮลเกรน ลูกพรุน และรำข้าว การทานอาหารที่มีกากใยสูงจะช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้นแน่นอนค่ะ

ดื่มน้ำให้เพียงพอ
ทุกคนทราบกันดีว่าการดื่มน้ำมาก ๆ ดีต่อสุขภาพ และยิ่งท้องผูกยิ่งต้องจริงจังกับการดื่มน้ำมาก ๆ นะคะ เพราะนอกจากการทานอาหารที่มีใยอาหารเพิ่มขึ้นจะช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้นแล้ว การดื่มน้ำ 10 ถึง 12 แก้วต่อวัน จะเป็นการผสานความร่วมมือ ระหว่างอาหารที่มีเส้นใยสูงและของเหลวจำนวนมากที่ช่วยให้เรากำจัดของเสียได้ดีที่สุดอีกด้วย

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ถ้าคุณมีอาการปวดหลัง เลยอาจจะกังวลว่าจะออกกำลังกายได้หรือเปล่า คุณออกกำลังกายได้นะคะ เพียงแค่เลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับเรา เช่น การเดิน ว่ายน้ำ ก็จะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้ขับถ่ายได้ง่าย แถมสุขภาพโดยรวมยังดีขึ้นอีกด้วย

เป็นอย่างไรบ้างที่นี่ก็รู้กันแล้วใช่ไหมคะว่าท้องผูกทำให้เกิดอาการปวดหลังได้อย่างไร หากอาการท้องผูกดีขึ้นแล้ว แต่อาการปวดหลังยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าอาการปวดหลังของเพื่อน ๆ มาจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับอาการท้องผูกควรเข้าพบปรึกษาแพทย์โดยด่วนกันนะคะ