มาลุ้นกัน จะได้เห็น ดาวหางนิชิมูระ ดวงใหม่ ในวันที่ 17 ก.ย. ไหม

มาดู ดาวหางนิชิมูระ ไปด้วยกันนะ วันที่ 17 ก.ย. นี้ นักดาราศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ค้นพบดาวหางดวงใหม่ จะสวยแค่ไหน รอดูกัน

มีเรื่องให้ลุ้นกันอีกแล้วค่ะลูกเพจ เมื่อช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม ก็มีลุ้นที่จะดูซูเปอร์ฟูลมูน หรือพระจันทร์ใกล้โลกที่สุด สำหรับเดือนนี้ มีลุ้นชม ดาวหางนิชิมูระ ค่ะ 

ดาวหางนิชิมูระ ถูกค้นพบเมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อนหน้านี้เองค่ะ ถูกพบโดยนักดาราศาสตร์มือสมัครเล่นชาวญี่ปุ่น อย่าง ฮิเดโอะ นิชิมูระ เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 66  

เขาใช้กล้องโทรทรรศน์ถ่ายภาพท้องฟ้าในช่วงรุ่งเช้า แล้วพบว่ามีวัตถุท้องฟ้าบางอย่างที่ไม่สามารถระบุได้บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) ติดมาในภาพ เมื่อกลับไปดูภาพถ่ายวันก่อน ก็พบวัตถุเดียวกันนี้ แต่มีการเปลี่ยนตำแหน่งไปเล็กน้อย จึงคาดว่าน่าจะเป็นดาวหางดวงใหม่ที่ไม่เคยมีใครค้นพบ 

หลังจากนั้น ฮิเดโอะ ส่งข้อมูล ส่งข้อมูลไปยัง Minor Planet Center ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะช่วยตรวจสอบและยืนยันการค้นพบวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะอย่างเป็นทางการ  

ได้รับการยืนยันในวันที่ 15 ส.ค. 2023 จึงกำหนดชื่อดาวหางดวงนี้อย่างเป็นทางการว่า “C/2023 P1 (Nishimura)”  จัดเป็นดาวหางคาบยาวที่มีแหล่งที่มาจากเมฆออร์ต (Oort Cloud) มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 437 ปี ขณะนี้กำลังโคจรเข้าใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ และจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 17 ก.ย.66 

ถ้าใครอยากจะเห็นดาวหางนิชิมูระจะสามารถดูได้ช่วงเช้า ทางทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ของวันที่ 8 ก.ย. 66 สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีไฟ 

ในช่วงวันถัดมาหลังจากนี้ แม้ดาวหางจะโคจรเข้ามาใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันดาวหางก็จะมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ทำให้ยิ่งเห็นได้น้อยลงเรื่อยๆ  

ในวันที่ 12 ก.ย. 66 จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด ด้วยระยะห่าง 125 ล้านกิโลเมตร แต่ก็เป็นช่วงที่ดาวหางมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มาก ทำให้ยากต่อการมองเห็น 

หลังจากวันที่ 15 ก.ย. 66 ดาวหางจะเปลี่ยนมาปรากฏทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ และมีมุมปรากฏบนท้องฟ้าห่างออกจากดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ  จนกระทั่งในวันที่ 17 ก.ย. 66 จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด จะยิ่งมีความสว่างมากขึ้น

โดยเว็บไซต์ Comet Observation database (COBS) คาดว่า ดาวหางอาจมีค่าความสว่างปรากฏได้มากถึง 3.0 ซึ่งเป็นค่าความสว่างปรากฏที่สามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้ไม่ยาก 

ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ จะสามารถเห็นดาวหางได้ ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นมุมประมาณ 10 องศา มีเวลามองเห็นเกือบ 1 ชั่วโมงก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไป  

หลังจากนี้ดาวหางจะค่อยๆ โคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์ และมีความสว่างลดลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถเห็นได้อีก จะโคจรกลับเข้ามาเฉียดโลกและดวงอาทิตย์อีกครั้งในอีกกว่า 400 ปีข้างหน้า 

อย่าลืมออกมาดูดาวหางกันนะคะ เพราะไม่รู้จะมีโอกาสได้เห็นอีกเมื่อไหร่ มาดูความสวยไปด้วยกัน 

อ้างอิง :  

[1] https://www.cobs.si/comet/2447/  

[2] https://www.astronomy.com/observing/comet-nishimura-is-brightening-fast-see-it-now/  

[3] https://earthsky.org/tonight/new-comet-c-2023-p1-nishimura-bright-august-september-october-2023/  

เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. 

คลิปอีจันแนะนำ
เต้นยังม่วนขนาดนี้…สอนจะม่วนขนาดไหน