เปิดใจควาญช้าง! อาชีพที่หลายคนตีตรา ใช้ช้างหาเงิน ใช้ช้างทำธุรกิจ

วันนี้อีจันได้มีโอกาส สัมภาษณ์เปิดใจควาญช้างจาก จ.เชียงใหม่ อาชีพนี้ ใช้ช้างหาเงินจริงไหม ทำแต่ธุรกิจจริงหรือเปล่า มาดูกัน

อาชีพควาญช้าง ที่มีคนจำนวนไม่น้อย มองว่า ทารุณกรรมสัตว์ ใช้ช้างเป็นเครื่องมือ ในการหาเงิน และทำธุรกิจ แต่น้อยคนที่จะเข้าใจอาชีพนี้จริงๆ ว่ามันมากกว่าคำว่า เงิน หรือ ธุรกิจ

ทีมข่าวอีจันได้มีโอกาสไปร่วมงาน นววิถีช้างไทย 2566 และได้พูดคุยกับควาญช้างจาก จ.เชียงใหม่ ถึงปัญหาและเสียงที่อยากจะส้อนไปถึงสังคม ที่ตีตราว่า อาชีพควาญช้างนั้น รังแกสัตว์ ทำร้ายสัตว์ และใช้สัตว์มาหากิน

โดยควาญยังบอกเพิ่มเติมอีกว่า การให้ช้างต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวอาบน้ำช้าง หรือแม้ ให้ช้างลากซุง ล้วนแล้วแต่ทำเพื่อเงิน นั่นคือเรื่องจริง แต่หารู้ไม่ เงินจำนวนนั้น มันก็คือ ค่าอาหาร ค่ายา ค่าหมอ ค่าที่พัก ค่าแรง ที่จะกลับมาให้ช้างนั่นเอง หากช้างบ้าน ที่ไม่มีรายได้ ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็จะอดและหิวโซ รวมไปถึงควาญช้างด้วย เพราะช้างบ้าน ไม่สามารถหากินเองได้ตามธรรมชาติ เขาเกิดในคอก ตื่นมาก็มีคนคอยป้อนอาหาร นั่นก็คือควาญช้าง

ควาญช้างเปรียบเสมือนพ่อแม่ และครูในเวลาเดียวกัน คอยปลอบโยน เวลาช้างกลัว คอยให้อาหารเวลาช้างหิว คอยดูแลเวลาช้างป่วย คอยอบรบเวลาช้างไม่เชื่อง ทุกอย่างคือการเลี้ยงดู หากไม่มีควาญ ช้างที่เกิดขึ้นมา ก็จะไม่เชื่อง อาจเกิดอันตรายต่อตัวช้างเอง และตัวคนรอบข้าง เพราะไม่มีควาญ คอยออกคำสั่งและอบรมพฤติกรรม

ทั้งหมดนี้คงเป็นเหตุผลที่เพียงพอหรือไม่ ที่จะทำให้คนภายนอก มองอาชีพควาญช้างเปลี่ยนไป ด้านควาญอีกท่านหนึ่งก็ได้เล่าอีจันฟังว่า ตนเคยประสบเหตุตกหลังช้างจนขาหัก เนื่องจากช้างตกมัน แต่ตนก็ไม่เคยคิดเกลียดหรือกล่าวโทษแต่อย่างใด เพราะตนเข้าใจ ว่ามันเป็นธรรมชาติของสัตว์ มันคือวิถีของช้าง ที่ผ่านมาช่วงโควิต ไม่มีนักท่องเที่ยว ช้างหิวโซ ควาญก็ไม่มีเงินเพียงพอที่จะดูแลช้างได้ แต่ควาญก็ไม่คิดที่จะเลิกทำอาชีพนี้ หรือไปหางานใหม่ทำ เพียงเพราะเหตุผลง่ายๆ “ถ้าผมไป แล้วใครจะดูแลเขา”

อย่างไรก็ดีครับ อีจันอยากเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียง ใครที่อยากสัมผัส หรือทำความรู้จักกับอาชีพนี้ให้มากขึ้น ลองเปิดใจ แล้วคุณจะเห็นอะไรมากกว่าที่ตาเห็นนะครับ ขณะที่อนุรักษ์ช้างไทยแล้วนั้น พวกเราต้องช่วยกันอนุรักษ์ อาชีพควาญช้างร่วมด้วยนะครับ