แบงก์พันปลอมระบาดหนัก ตร.เตือนภัย แนะวิธีสังเกต

ตร.เตือนภัย พร้อมแนะนำวิธีสังเกต แถบสีทองทุกครั้งก่อนรับหรือจ่าย เพื่อไม่พลาดตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพแก๊งปลอมธนบัตร

เตือนภัย แบงก์พันปลอมระบาดหนัก โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง แนะ วิธีสังเกต “ของจริง-ของปลอม” ดูที่แถบสีทอง ชี้ ใช้เงินปลอมซื้อของมีโทษสูงสุดติดคุก 15 ปี

พล.ต.ต.อาชยนฯ เผยว่า กรณีบนโลกโซเชียลได้มีการโพสต์ภาพและข้อความ ระบุให้ระวังแบงก์พันปลอมระบาด จาก 2 พื้นที่ ซอยกำนัน อ.เมืองอุดรธานี ลูกค้าเอาเงินปลอมมาซื้อหมูกระทะที่ร้านและร้านขายของชำที่ ต.เชียงหวาง อ.เพ็ญ มีลูกค้านำแบงก์พันมาซื้อของภายในร้าน ในกรณีดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังโดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ขอให้ตรวจสอบธนบัตรที่ได้รับโดยเฉพาะธนบัตรที่มีมูลค่าสูง จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพแก๊งปลอมธนบัตร

สำหรับวิธีสังเกตในเบื้องต้นของธนบัตรใบละ 1,000 บาท ให้ดูที่ “แถบสีในเนื้อกระดาษ” ที่เป็นพลาสติกสีทองที่ฝังไว้ในเนื้อกระดาษตามแนวตั้งของธนบัตร ซึ่งเรียกว่า “แถบสีทอง”

โดยในมุมปกติจะมองเห็นเป็นเส้นประ แต่เมื่อส่องกับแสงจะเห็นเป็นเส้นตรงและมีข้อความ “1000 บาท 1000 BAHT” เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองจะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียว ลวดลายในแถบจะเคลื่อนไหวไปมาได้ แถบสีอาจมีรอยขูดขีดหลุดลอกชำรุดจากการใช้งานได้ แถบสีที่อยู่ในเนื้อกระดาษธนบัตรแต่ละฉบับสามารถอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ตรงกันได้ โดยอาจเลื่อนไปทางซ้ายหรือขวาตามระยะที่มาตรฐานกำหนดไว้

ทั้งนี้ถ้ามีการใช้เงินปลอมซื้อของ โทษสูงสุดติดคุก 15 ปี การใช้ธนบัตรปลอมในการซื้อสินค้าและบริการเป็นการกระทำที่มีความผิดตามกฎหมายอาญาโดยแบ่งความผิดตามเจตนาของผู้ใช้ธนบัตรปลอมออกเป็น 2 ประเด็นหลัก

1.ได้ธนบัตรปลอมมาโดยไม่รู้ว่าเป็นของปลอม แต่ต่อมาเมื่อรู้ว่าเป็นของปลอมแล้วยังขืนนำออกไปซื้อสินค้าและบริการต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 245

2.การมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อใช้โดยที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นของปลอมต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 30,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244

โฆษก ตร. กล่าวอีกว่า หากพี่น้องประชาชนพบการกระทำความผิดสามารถแจ้งเบาะแสและสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วน 191 หรือสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีระบบแสดงคำแนะนำ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ทราบว่าจุดสังเกตแต่ละแห่งจะต้องใช้วิธีการใด ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ “สัมผัส ยกส่อง หรือพลิกเอียง” ในการตรวจสอบธนบัตร และเพื่อความมั่นใจควรตรวจสอบอย่างน้อย 3 จุดขึ้นไป

อ้างอิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , ธนาคารแห่งประเทศไทย

คลิปแนะนำอีจัน
นึกว่ามีแค่ในหนัง แก๊งค้ายา กดรีโมทเปลี่ยนป้ายทะเบียน