กรมอนามัย ลุยตรวจ ร้านหมูกระทะชลบุรี พบ ฟอร์มาลีน ใน หมึกกรอบ – สไบนาง

กรมอนามัย สธ. ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี ลุยตรวจร้านหมูกระทะ 3 โซน รวม 9 ร้าน เจอ ฟอร์มาลีน ใน หมึกกรอบ – สไบนาง แต่ยังไม่พบในหมู

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวถึง กรณีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ตรวจสอบโรงงานผลิตแปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์ที่จังหวัดชลบุรี ที่ใช้ฟอร์มาลินเเช่เครื่องใน เเล้วส่งขายร้านหมูกะทะและร้านอาหารนั้น

ผงะ!!! ปศุสัตว์ บุกยึด เนื้อสัตว์แช่ฟอร์มาลิน ส่งขายร้านหมูกระทะ

กรมอนามัย ขอเตือนผู้ประกอบการ ให้ระมัดระวังการนำวัตถุดิบดังกล่าวมาจำหน่าย เนื่องจากสารฟอร์มาลีนถูกนำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมและทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามนำมาใส่อาหารเพื่อรักษาสภาพอาหาร

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 พ.ศ.2536 แห่ง พรบ.อาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์ หรือฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร หากตรวจพบว่าจัดเป็นการผลิตจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.อรรถพล กล่าวต่อว่า กรมอนามัยประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่ นำโดยทีมหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร (Mobile Unit) และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี สุ่มตรวจสารปนเปื้อนในอาหารที่ร้านหมูกะทะ 9 ร้าน แบ่งเป็นโซนบางแสน 3 ร้าน ตัวเมืองชลบุรี 3 ร้าน และนิคมอมตะนคร 3 ร้าน จำนวน 45 ตัวอย่าง พบว่ามีผลบวก จำนวน 10 ตัวอย่าง ในปลาหมึกกรอบและสไบนาง ซึ่งต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิทย์ฯ ชลบุรีเพื่อยืนยันอีกครั้ง แต่ยังไม่พบสารฟอร์มาลีนในเนื้อหมู นอกจากนี้ สสจ.ชลบุรี ยังได้สั่งการไปยังสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เก็บตัวอย่างอาหารสดที่มีโอกาสจะใส่สารฟอร์มาลีน อำเภอละ 10 ตัวอย่าง เพื่อส่งต่อให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 6 ชลบุรี ตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

หากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลีนในปริมาณมาก ก็จะเกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหาร มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบเป็นแผล หากสูดดมจะมีฤทธิ์ทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมบวม แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากสัมผัสโดยตรงจะทำให้ผิวหนังระคายเคือง เกิดผื่นคัน เป็นผื่นแดงเหมือนลมพิษ ผิวหนังไหม้หรือ หากสัมผัสที่ดวงตาจะระคายเคืองมากทำให้เป็นแผลได้ โดยเฉพาะพ่อค้า แม่ค้า ที่จำหน่ายอาหารแช่สารฟอร์มาลินมีโอกาสสูดดมไอระเหยของสารฟอร์มาลินที่ออกจากน้ำแช่ได้ตลอดเวลา

นพ.อรรถพล ยังฝากถึงประชาชนที่นิยมกินอาหารนอกบ้าน ว่า ก่อนกินเนื้อหมู เนื้อวัว หรืออาหารทะเลทุกครั้ง ควรสังเกตว่า ลักษณะเนื้อนั้นสดผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีกลิ่นฉุนๆ แปลกๆ แสบจมูก ก็ไม่ควรบริโภค แต่หากไม่มั่นใจในร้านอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน ควรเลือกปรุงประกอบอาหารเอง โดยเลือกซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย และให้เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงการกินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ

คลิปอีจันแนะนำ
ฟังอีกมุม “ฝึกปกติมีพักจิบน้ำ” ฝึกโหด นศท.นราธิวาส