ตำนานเล่าขาน ปีศาจทะเล เกี่ยวอะไรกับการจุดประทัด ในวันตรุษจีน

ตำนานเล่าขานปีศาจทะเล ที่มาของเหตุผลการจุดประทัดเสียงดัง กับการประดับปะดาด้วยสีแดง และมารู้จักต้นกำเนิดของการเชิดสิงโตในวันตรุษจีน

มีเรื่องเล่ากันมาช้านานถึงที่มาคำอธิบายเหตุผลว่าทำไมเทศกาลตรุษจีนนี้จึงเกี่ยวข้องกับสีแดง โคมไฟกระดาษ และประทัด มีคำบอกเล่ามาว่า ประเทศจีนในสมัยโบราณ มีสัตว์ประหลาดหรือปีศาจตามตำนานของจีนมักจะออกมาอาละวาดเป็นประจำทุกปี

ปีศาจตนหนึ่ง นามว่า “ เหนียน / “年” / “Nian”

ลักษณะหัวมีขนรุงรัง ดุร้ายเป็นอย่างมาก “ เหนียน ” อาศัยอยู่ในทะเลลึก แต่ทุกปีพอถึงวันปีใหม่หรือสิ้นปีจันทรคติก็จะปีนขึ้นฝั่งมาทำร้ายชาวบ้านและสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านใกล้ ๆ ทำให้ทุก ๆ ครั้งที่ถึงวันสิ้นปี ผู้คนในหมู่บ้านต่างก็พากันหลบหนีอุ้มลูกจูงหลานเข้าไปในหุบเขาลึก เพื่อซ่อนตัวจากปีศาจร้ายในช่วงที่ “เหนียน” ขึ้นฝั่งในหนึ่งปีว่ากันว่า “เหนียน” จะออกมาอาละวาดแค่วันเดียวเท่านั้น ซึ่งนับว่าเทพเจ้าประทานอนุญาตให้แค่นั้น

โดยมีอยู่ปีหนึ่ง ขณะที่ชาวบ้านกำลังเตรียมตัวเพื่อหลบหนีไปซ่อนในหุบเขา ชายชราคนหนึ่งเดินเข้ามายังหมู่บ้าน หญิงชราที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้จึงเตือนเขาว่ามีปีศาจร้ายและให้ชายผู้นี้ออกไปซ่อนตัวร่วมกับคนอื่น ๆ ในหุบเขาเพื่อให้ปลอดภัยจาก “เหนียน” แต่ชายชรายืนยันว่าจะปักหลักอยู่ที่หมู่บ้านและจะขับไล่ปีศาจให้ ชาวบ้านตัดสินใจหนีไปซ่อนตามแผน โดยที่ชายชรายังคงอยู่ในหมู่บ้าน

ในที่สุด “เหนียน” ก็เดินทางมาถึงหมู่บ้าน และพบว่าหมู่บ้านว่างเปล่า ยกเว้นบ้านของหญิงชราที่ได้รับการตกแต่งด้วยกระดาษสีแดงตรงประตู และในบ้านจุดเทียนสว่างไสว “เหนียน” โกรธแค้นอย่างมากและวิ่งเข้าไปที่บ้านหลังนั้นอย่างบ้าคลั่ง แต่ปีศาจร้ายต้องตกใจสุดขีดเมื่อได้ยินเสียงประทัดดังขึ้น เพราะ “เหนียน” กลัวสีแดง แสงไฟ และเสียงประทัดดัง ๆ จนทำให้หันหลังกลับและวิ่งหนีกลับสู่ทะเลไปในที่สุดและไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ชาวบ้านกลับมาในวันรุ่งขึ้นและต่างก็แปลกใจที่หมู่บ้านไม่ถูกปีศาจร้ายทำลายอย่างที่คาด

อีกเรื่องราวหนึ่งเล่ากันว่าเมื่อชาวบ้านพบจุดอ่อนของเจ้าปีศาจร้าย โดยเริ่มขึ้นเมื่อ “เหนียน” มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งนั้นมีเด็กๆกำลังหวดแส้เล่นกันอย่างสนุกสนาน เมื่อ “ เหนียน” ได้ยินเสียงแส้ดังเปรี้ยงปร้าง! กลับตกใจกลัวรีบเผ่นหนีไป และเมื่อ “ เหนียน ”เดินทางไปถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง ก็ได้มองเห็นเสื้อผ้าสีแดงซึ่งตากอยู่หน้าบ้านของครอบครัวหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่าสีแดงอันฉูดฉาดนั้น ทำให้ “ เหนียน ” ตกใจกลัวและเผ่นหนีไปอีก จนเมื่อ “ เหนียน ” เดินทางมาถึงหมู่บ้านแห่งที่ 3 ก็ดันไปพบกับกองเพลิงที่มีไฟลุกโชนอยู่กองหนึ่งบนถนน แสงเพลิงที่ร้อนแรงสว่างเจิดจ้า ทำให้ “ เหนียน ” ต้องเผ่นหนีกระเจิงไปอีก จนตั้งแต่บัดนั้นมา ผู้คนก็ค้นพบว่าถึงแม้ “ เหนียน ” จะดุร้ายมากมายสักเพียงไร แต่มันก็จะกลัวสีแดง เสียงดังเปรี้ยงปร้าง และไฟอันสว่างไสว ทำให้ผู้คนสามารถคิดค้นหาวิธีกำจัด “ เหนียน ” ได้โดยไม่ยากอีกต่อไป

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชาวบ้านต่างก็ใช้วิธีของชายชราเพื่อป้องกันไม่ให้ “เหนียน” เข้ามาทำร้าย เช่น การจุดเทียนให้สว่างไสวและจุดประทัดเสียงดัง และเป็นความเชื่อเรื่องการจุดประทัดในเทศกาลตรุษจีน ทุกวันนี้เราจึงเห็นผู้คนตกแต่งอาคารบ้านเรือนด้วยสีแดงและมีการจุดประทัดในช่วงเทศกาลตรุษจีนหรือ Chinese New Year เพื่อฉลองอีกหนึ่งปีที่ผู้คนปลอดภัยจากปีศาจในตำนาน

ถือกำเนิดการเชิดสิงโต

สำหรับการเชิดสิงโต นั้นเป็นศิลปะการแสดงเชิงวัฒนธรรมมีแนวความเชื่อหนึ่งตามบันทึกในประวัติศาสตร์จีน การเชิดสิงโต มีกำเนิดในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกราวศตวรรษที่ 1 ตามบันทึกในคัมภีร์ประวัติศาสตร์ ซือจิง ของขงจื่อ แรกเริ่มเป็นการละเล่น สมัยราชวงศ์ฉิน ด้วยการสวมหน้ากาก รูปสัตว์ป่าต่างๆ รวมทั้งระบำหน้ากากหงส์ ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น ปรากฏมีระบำปลา และระบำหงส์กับมังกร ยังไม่ปรากฏ สัตว์ประเภทสิงโต เนื่องจากสิงโต มิใช่สัตว์ในท้องถิ่นของจีน

โดยอักษรคำว่า ซือ (獅) ที่หมายถึง สิงโต ปรากฏอยู่ในบันทึกสมัยราชวงศ์ฮั่นโดยใช้คำว่า ซือ (師 ) ในระยะต้น เชื่อว่า ผันเสียงมาจากภาษาเปอร์เซีย ปรากฏในราชสำนักฮั่นด้วยคำว่า ซือ (獅)ที่หมายถึงสิงโต ต่อมา การละเล่น เชิดสิงโต ปรากฏอยู่ในบทกวีสมัยราชวงศ์ถัง และสมัยสามอาณาจักร

อีกทั้งสมัยสามอาณาจักรบันทึกในราชวงศ์เว่ยเหนือ บันทึกลั่วหยางเฉียหลัน ของวัดมีบันทึกไว้ว่า ในการแห่พระพุทธรูป มีขบวนแห่สิงโต เพื่อขับไล่วิญญาณปีศาจร้าย ร่วมอยู่ด้วยสมัยราชวงศ์ถัง การระบำสิงโตมีหลายแบบด้วยกัน ราชสำนักถังเรียกว่า ไท่ผิงเย่ว์ สำหรับดนตรีในการใช้ในการละเล่นเรียกว่าดนตรีแห่งสันติสุข หรือ มีอีกชื่อว่า ระบำสิงโต 5 ระบบ หมายถึงตัวสิงโตที่ หลายหลากลีลา ทั้งท่าทางและอารมณ์ โดยคนเชิดเพียง 2 คน ภายใต้ชุดสวมใส่หลายหลากสี

ไป๋จวีอี้ว์ กวีสมัยราชวงศ์ถัง ในบทกวีของเขาได้แจกแจงรายละเอียดของการเชิดสิงโต ที่เกี่ยวกับลักษณะของสิงโตว่า การระบำสิงโต เชิดโดยคน 2 คน ถือหัวสิงโตที่ทำด้วยไม้ คลุมด้วยร่างที่ทำจากผ้าไหมและหนังสัตว์ ดวงตาสีทอง ฟันสีเงิน และหูสองข้างที่ขยับเคลื่อนไหวได้ ซึ่งใกล้เคียงกับลักษณะของสิงโตในปัจจุบัน ในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ การการแสดงเชิดสิงโต เป็นศิลปะที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในเทศกาลต่าง ๆ จนได้ชื่อว่า “สิงโตเหนือ”

ต่อมาตำนานของสัตว์เหนียน ได้ให้กำเนิดการเชิดสิงโตในถิ่นภาคใต้ ตามเทศกาลต่าง ๆ ที่มณฑลกว่างตง โดยพัฒนาจากการเชิด “สิงโตเหนือ” มีบางตำนานเล่าว่า เป็นความฝันของจักรพรรดิเฉียนหลง พบสัตว์ป่าคล้ายสิงโต ขณะที่ท่องแดนใต้ การเชิดสิงโต จึงถูกสร้างสรรค์ขึ้น ในเทศกาลต่าง ๆ อย่างไรก็ตามมีความชัดเจนอย่างมากว่า สิงโตภาคใต้ของเมืองกว่างโจว ได้ปรับปรุงดัดแปลงมาจาก สิงโตภาคเหนือ ในสมัยราชวงศ์หมิง สิงโตภาคเหนือ มักเชิดเป็นคู่ ลักษณะคล้ายหมาปักกิ่ง มีหัวทำด้วยไม้สีทอง มีขนสีเหลืองแกมส้มปกคลุมหนา มีโบว์แดงที่หัว หมายถึง สิงโตตัวผู้ และตัวเมีย มีโบว์สีเขียวประดับอยู่

สิงโตภาคใต้กำเนิดจากมณฑลกว่างตง หัวจะทำด้วยโครงไม้ไผ่ ปิดผ้าซ้อนทับกันหลายชั้น มีเขาเดียว ลักษณะจำลองแบบจากสัตว์เหนียน สัตว์ในตำนาน ที่มีชื่อเสียง ลีลา 2 แบบจากเมือฝูซา และ เหอซาน สิงโตจีน นอกจากสิงโตเหนือ-ใต้ แล้ว ยังมีรูปแบบสิงโตอื่น ๆ ประจำท้องถิ่น อีก เช่น สิงโตเขียวศิลปะเฉพาะถิ่นของมณฑลฝูเจียน และไต้หวัน.

บางตำนานเล่าว่า พระยูไลได้เสร็จมาปราบพยศตัวเหนียนจนเชื่องและพากลับไปชาวบ้านจึงเฉลิมฉลองและจัดทำการแต่งตัวเลียนแบบท่าทางตัวเหนียนเพื่อบูชาพระยูไล จึงเกิดเป็นการเชิดสิงโต

อีกหนึ่งตำนานเล่าว่าการเชิดสิงโตเริ่มขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ้อง แม่ทัพจงอวี่ (Zhong Yue) ยกทัพออกรบที่ดินแดนหลินหยี (Lin Yi) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีนแถวๆ ประเทศลาว และพม่า ข้าศึกชาวพื้นเมืองได้ใช้กองทัพช้างในการสู้รบ ทำให้แม่ทัพจงอวี่ต้องรับศึกหนัก จึงใช้อุบายให้ทหารกองหน้าแต่งตัวเป็นสิงโต กองทัพช้างของข้าศึกเห็นจึงแตกตื่นและแตกพ่ายไป ประเทศจีนจึงมีประเพณีเชิดสิงโตเพื่อฉลองชัยชนะ

ถึงแม้ว่าตำนานจะหลากหลายเรื่องราวซะเพียงใด แต่ความน่าสนใจอยู่ที่การอนุรักษ์คงไว้ซึ้งวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและสืบทอดต่อมาจนเป็นประเพณีที่เต็มไปด้วยความงดงามสะท้อนถึง ความหลากหลาย ทางวัฒนธรรม คราวนี้เพื่อนๆก็รู้จักเจ้าปีศาจเหนียนที่เป็นตำนานแห่งวันตรุษจีนกันมากขึ้นแล้ว ตรุษจีนนี้จุดประทัดกันก็ระวังอันตรายด้วยนะคะ

ขอบคุณ เพจเฟซบุ๊กเทพเจ้าจีน

คลิปอีจันแนะนำ
ทรงอย่างแบด กระหึ่มลานโชว์โลมา! @ซาฟารีเวิลด์