เตือน 14 จังหวัด ลุ่มลำน้ำชี – ลุ่มลำน้ำมูล ระวัง น้ำหลาก น้ำท่วมขัง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือน 14 จังหวัด ลุ่มลำน้ำชี – ลุ่มลำน้ำมูล เฝ้าระวัง น้ำหลาก น้ำท่วมขัง ถึงวันที่ 21 ก.ย. นี้!

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศต่อ พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ฉบับที่ 2/2565 เรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำในลุ่มน้ำชี-มูล 

วันนี้ (19 ก.ย. 65) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือนภัย เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ลำน้ำชี และ ลำน้ำมูล จนถึงวันที่ 21 ก.ย. 65 เนื่องจากพบว่าประเทศไทยยังมีฝนเพิ่มขึ้น ลมกระโชกแรง และ ฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก

โดยภายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบปริมาณฝนตกใน จังหวัดตราด 155 มม., จังหวัดจันทบุรี 138 มม. และจังหวัดน่าน 127 มม.

พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง ดังนี้

ภาคเหนือ: จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะยา แพร่ น่าน ลำพูนลำปาง กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย พิจิตร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จ.เลย อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ชัยภูมิ อำนาจเจริญ บึงกาฬ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ และยโสธร 

ภาคกลาง: จ.กาญจนบุรี และราชบุรี ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด 

ภาคใต้: จ.ระนอง

 พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำแควน้อย เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง 

แม่น้ำสายหลัก: น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ลำน้ำสาขาของแม่น้ำแควน้อย: แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำตราด

หลังเมื่อวานนี้ (18 ก.ย. 65) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประกาศ เฝ้าระวังระดับน้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ตามที่ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ประกาศเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำมูล ในช่วงวันที่ 13-18 กันยายน 2565 และติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน รวมถึงการคาดการณ์ของ กรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในช่วงวันที่ 18-24 กันยายน 2565 บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนจะมีฝนตกหนัก

ประกอบกับพื้นที่น้ำท่วมเอ่อล้นตลิ่งก่อนหน้านี้ขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง และลำน้ำมูลบน มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์กักเก็บน้ำสูงสุด ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ประสานให้ กรมชลประทาน พิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศล อยู่ในเกณฑ์ 1,400 – 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมวลน้ำจะไหลไปรวมกับแม่น้ำชีและลำน้ำสาขา ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในเกณฑ์ 2,600 – 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.40 – 0.60 เมตร

ลักษณะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ อาจเกิดน้ำท่วมขังและล้นตลิ่ง จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ดังนี้

ลุ่มน้ำชี

1. จังหวัดกาฬสินธุ์ บริเวณอำเภอกมลาไสย กุฉินารายณ์ ฆ้องชัย เมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด และร่องคำ

2. จังหวัดขอนแก่น บริเวณอำเภอโคกโพธิ์ไชย ชนบท บ้านแฮด พระยืน มัญจาคีรี แวงน้อย และแวงใหญ่

3. จังหวัดชัยภูมิ บริเวณอำเภอคอนสวรรค์ เนินสง่า และเมืองชัยภูมิ

4. จังหวัดนครราชสีมา บริเวณอำเภอแก้งสนามนาง และบ้านเหลื่อม

5. จังหวัดมหาสารคาม บริเวณอำเภอกันทรวิชัย โกสุมพิสัย และเมืองมหาสารคาม

6. จังหวัดยโสธร บริเวณอำเภอค้อวัง คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย และเมืองยโสธร

7. จังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณอำเภอจังหาร เชียงขวัญ ทุ่งเขาหลวง ธวัชบุรี พนมไพร โพธิ์ชัย โพนทอง เมยวดี เมืองสรวง สุวรรณภูมิ เสลภูมิ และอาจสามารถ

8. จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณอำเภอกันทรารมย์

9. จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณอำเภอเขื่องใน และเมืองอุบลราชธานี

ลุ่มน้ำมูล

1. จังหวัดนครราชสีมา บริเวณอำเภอชุมพวง ลำทะเมนชัย และเมืองยาง

2. จังหวัดบุรีรัมย์ บริเวณอำเภอแคนดง และสตึก

3. จังหวัดสุรินทร์ บริเวณอำเภอชุมพลบุรี ท่าตูม และรัตนบุรี

4. จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณอำเภอบึงบูรพ์ ห้วยทับทัน ราษีไศล เมืองศรีสะเกษ และกันทรารมย์

5. จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ เขื่องใน และสว่างวีระวงศ์

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย รวมทั้งจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี

3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

คลิปแนะนำอีจัน
ดร.พิมพ์ขวัญ นางงามมีผัวแล้ว 2022 Mrs.Thailand World