ดร.ธรณ์ สรุปสถานการณ์ กู้ภัย “เรือดำน้ำไททัน”

ดร.ธรณ์ สรุปสถานการณ์ กู้ภัย “เรือดำน้ำไททัน” อากาศในเรือเหลือพอใช้ถึงช่วงค่ำ วันพฤหัสบดีที่ 22 มิ.ย.66 นี่คือการกู้ภัยใต้ทะเลลึกครั้งสำคัญสุด

จากกรณี เรือดำน้ำไททัน ซึ่งเป็นเรือพาชมซากเรือไททานิค ได้สูญหายไปอย่างลึกลับ ในมหาสมุทรแอตแลนติก และไม่สามารถติดต่อได้ หลังจากนำเรือลงไปใต้น้ำได้เพียง 1.45 ชั่วโมงเท่านั้น

ไทม์ไลน์เรือไททันสูญหาย ขณะพา 5 ลูกเรือดำดิ่งทะเลลึกดูซากเรือ ไททานิค

วันนี้ (22 มิ.ย.66) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว สรุปสถานการณ์กู้ภัยยาน Titan หรือเรือดำน้ำไททัน ว่า ยังคงตามหาต่อไปแบบปฏิบัติการ “ช่วยชีวิต” แม้ออกซิเจนเหลือน้อย แต่ปริมาณออกซิเจนเป็นการคาดการณ์ อาจแตกต่างในสถานการณ์จริงของการหายใจแต่ละคน ยังระบุจุดที่ได้ยินเสียงไม่ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถวิเคราะห์เสียงว่าเป็นอะไรแน่ แต่ยังพยายามส่ง ROV ไปสำรวจ ยังไม่พบอะไร

การค้นหาทางอากาศยังดำเนินต่อไป ครอบคลุมพื้นที่ 3 หมื่นตร.กม.หรือมากกว่า

เครื่องบินปล่อย sonobuoy มีทั้งแบบ active (Sonar) ยิงคลื่นลงไปเพื่อกระทบวัตถุแล้วรับสัญญาณสะท้อน และแบบ passive รับเสียงที่เกิดขึ้นใต้น้ำ (โซนาร์ที่เราเรียก หมายถึงระบบแอคทีฟเท่านั้น)

ใช้ยาน ROV หลายลำ (ไม่มีคนขับ) ยาน Victor6000 ของฝรั่งเศสน่าจะเป็นความหวังมากสุด มีมือจับกลสามารถดึงหรือแกะของที่อาจติดอยู่ หรือนำสายไปเกี่ยวเพื่อช่วยดึงยาน titan ขึ้นมา

อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในปฏิบัติการครั้งนี้ ทำให้เราเห็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทะเลลึก เช่น sonobuoy, sidescan sonar, ROV ฯลฯ

sidescan sonar มีในไทย เคยนำมาลองใช้ทำ mapping พื้นที่ชายฝั่งขนาดเล็ก

ROV ในไทยมีนานแล้ว ตอนนี้มีใช้ทั่วไป รู้จักในนาม underwater drone ส่วนใหญ่ใช้สาย ลงลึกได้ 100-150 เมตร (ขนาดเล็ก) ปัญหาสำคัญคือสายแพง และกระแสน้ำอาจทำให้สายตกท้องช้าง

Deep Water Robot ใช้ในกิจการพลังงาน วางท่อ รวมถึงวางสายไฟเบอร์ออปติก/สายไฟใต้น้ำ ฯลฯ

เรายังไม่มียานสำรวจทะเลลึกแบบมีคนอยู่ข้างใน และคงยังไม่มีอีกนานเพราะราคาสูงมากและไม่จำเป็นขนาดนั้น (อ่าวไทยตื้นมาก)

ทั้งโลกมียานสำรวจที่ลงไปได้ในระดับ 3,800 เมตร ประมาณ 10 ลำ

ขอให้ทุกคนปลอดภัย ขอให้มีปาฏิหาริย์ครับ

ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ธรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กให้ข้อมูลเกี่ยวกับ การกู้ภัยยาน Titan ว่า เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเล

บนผิวน้ำ – ใช้เครื่องบินเป็นหลัก ตอนนี้บินหาในพื้นที่กว้างมากกว่า 2 หมื่นตร.กม.

ปัญหาสำคัญคือต่อให้ยาน Titan ลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ แต่ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่าประตูเปิดจากข้างในไม่ได้หรือยากมาก อันเป็นหลักการของยานสำรวจใต้ทะเลลึก ปรกติต้องให้คนข้างนอกมาเปิดให้ เพราะฉะนั้น คนข้างในยานอาจยังคงต้องใช้ออกซิเจนที่มีจำกัดต่อไป จนกว่าจะมีทีมกู้ภัยมาเจอ

การทุบยานให้เป็นรูหรือทุบกระจกเป็นไปไม่ได้ เพราะยานสร้างจากไททาเนี่ยม ป้องกันแรงกดดัน 370 เท่า (ลงไปใต้น้ำ แรงกดดันเพิ่ม 1 บรรยากาศต่อความลึก 10 เมตร)

กลางน้ำ – เครื่องบินทิ้ง Sonar probe ลงมาตามจุดต่างๆ นอกเหนือไปจากการใช้เรือ เพื่อครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น

มีรายงานว่าได้ยินเสียงใต้น้ำ แต่ยังไม่ยืนยันว่าเป็นเสียงอะไรหรือที่ไหน

บนพื้น – มีการส่งอุปกรณ์สำรวจทะเลลึกมาจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กองทัพเรือสหรัฐ (อุปกรณ์เป็นความลับทางทหาร) ยานสำรวจไร้คน (ROV) จากฝรั่งเศสและอังกฤษ (ส่วนใหญ่เป็นของบริษัทขุดเจาะน้ำมัน/วางท่อ โดยเฉพาะในยุโรปที่หลายแหล่งอยู่ลึก)

เรือ Atalante สำรวจทะเลลึกของฝรั่งเศสพร้อมยานสำรวจที่ลงได้ถึง 4,000 เมตร กำลังเดินทางมาที่จุดหมาย น่าจะเป็นความหวังมากที่สุดในขณะนี้

อากาศเหลือพอใช้ถึงวันพฤหัสตอนค่ำ นี่คือการกู้ภัยใต้ทะเลลึกครั้งสำคัญสุด และเป็นการระดมพลังในทุกด้าน ทุกเทคโนโลยีที่โลกคิดค้นมาในการสำรวจทะเลลึก ดินแดนลับแลแห่งสุดท้ายของดาวเคราะห์ดวงนี้ หวังว่าปาฏิหาริย์จะมีจริง