ฝนทิ้งช่วง กลาง มิ.ย.66 ทั่วไทยแดดจ้า-ร้อนฉ่า เหมือนหน้าร้อน

เอลนีโญรุนแรง! กลาง มิ.ย.66 ฝนเตรียมทิ้งช่วง ทั่วไทยแดดจ้า-ร้อนฉ่า เหมือนหน้าร้อน ลุ้น มรสุม-พายุหมุนเขตร้อน กระหน่ำไทยเป็นช่วงๆ

‘กรมอุตุนิยมวิทยา’ ระบุว่า สถานการณ์ลานีญา ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมา 3 ปี หรือตั้งแต่กลางปี 2563 ได้สิ้นสุดลงแล้วช่วงต้นปี 2566 ส่วนปรากฏการณ์เอนโซ มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเข้าสู่ ‘สภาวะเอลนีโญ’ ในช่วงเดือน มิ.ย.ถึง ก.ค.66 และจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธ.ค.66 ถึง ก.พ.67

ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยรายเดือนช่วงฤดูฝน (พ.ค.-ต.ค.66) เมื่อเทียบกับค่าปกติในปีที่เกิดเอลนีโญระดับรุนแรง พบว่า อุณหภูมิจะสูงกว่าค่าปกติประมาณ 0.5-1 องศาเซลเซียส และโดยเฉลี่ยช่วงเดือน พ.ย.ถึง เม.ย.67 จะสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1.0-1.5 องศาเซลเซียส

ขณะที่ ปริมาณฝนรวมเฉลี่ยรายเดือนช่วงฤดูฝน (พ.ค.-ต.ค.66) จะต่ำกว่าค่าปกติประมาณ 5-10% แต่มีบางเดือนที่มีค่าต่ำกว่า 20% ปริมาณฝนรวมเฉลี่ยรายเดือน ช่วง พ.ย.65 ถึง เม.ย.66 จะต่ำกว่าค่าปกติมากกว่า 20% เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยฝนน้อย ดังนั้น ค่าผลต่างของฝนจะมีมาก

ดังนั้น สภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบลักษณะอากาศของประเทศไทย โดยเฉพาะอุณหภูมิที่สูงขึ้น แต่สภาวะฝนตกจะไม่ส่งผลให้ฝนตกน้อยอย่างชัดเจน เนื่องจากยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น อิทธิพลของมรสุม และพายุหมุนเขตร้อน ที่ทำให้ฝนตกหนักบริเวณประเทศไทยเป็นช่วงๆ ได้ 

ด้าน ‘องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก’ ประเมินว่า อีก 5 ปีข้างหน้า โลกจะร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม (ปี 2303-2393) และจะร้อนในระดับนั้นอยู่อย่างน้อย 1 ปี ทำให้ระหว่างนี้มีโอกาสถึง 98% ที่ 1 ใน 5 ปีข้างหน้านี้ จะกลายเป็นช่วงเวลาที่โลกทำสถิติร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ หรืออาจเป็นช่วงเวลา 5 ปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าระหว่างปี 2566-2570 อุณหภูมิใกล้ผิวโลกเฉลี่ยรายปี จะมากกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมระหว่าง 1.1-1.8 องศาเซลเซียส

ปัจจัยหลักที่ทำให้โอกาสการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อไปในปีนี้

ทั้งนี้ แม้นักวิทยาศาสตร์จะประเมินว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นได้รวดเร็วเพียงใด และยังมีคำเตือนด้วยว่า ต่อไปจะเกิดวงจรของห้วงเวลาที่โลกร้อนขึ้นแบบนี้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นแล้ว มีข้อมูลที่น่าสนใจ หลังทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจาก World Weather Attribution ที่ศึกษาเรื่องความร้อนและความชื้นในอินเดียกับบังกลาเทศ ระบุว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ทำให้คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเดือน เม.ย.66 ที่ผ่านมา มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าปกติได้ถึง 30 เท่า และได้ข้อสรุปว่า อากาศร้อนขึ้นไปอย่างน้อย 2 องศาเซลเซียส

โดยหลายพื้นที่ในภูมิภาคมีอุณหภูมิพุ่งสูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส อย่าง ‘บังกลาเทศ’ เผชิญกับอากาศที่ร้อนที่สุดในรอบ 50 ปี ส่วนไทยก็ทำสถิติอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ด้วย ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สร้างความเสียหายให้กับระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การขาดแคลนพลังงานและทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดเพิ่มมากขึ้น

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นด้วยว่า ดัชนีความร้อนที่คาดการณ์ไว้ในบางพื้นที่ อาจเข้าใกล้ระดับที่อันตรายนั่นคือ อุณหภูมิสูงถึง 54 องศาเซลเซียส เมื่อมีปัจจัยด้านความชื้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้คนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คลิปอีจันแนะนำ
ป.ป.ส. จับมือ หน่วยซีล บุกรวบเรือขนยาข้ามชาติ