
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์กับ 'อีจัน' ถึงสภาพอากาศในช่วงปลายฤดูร้อนปี 2566 ถึงต้นฤดูฝน ว่า
ฤดูร้อนปีนี้ช่วงวันที่ 13-15 เม.ย.66 เป็นช่วงที่มีอุณหภูมิสูงสุดของปีนี้วัดได้ 44.6 องศาเซลเซียส (14 เม.ย.66)ที่ อ.เมือง จ.ตาก เทียบเท่าสถิติปี 2559 ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน (28 เม.ย.59) และช่วงวันที่ 16-22 เม.ย.66 มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทำให้อุณหภูมิไม่สูงกว่าช่วงที่ผ่านมา แม้แนวตั้งฉากของดวงอาทิตย์จะอยู่บริเวณประเทศไทยตอนบนก็ตาม
ทั้งนี้ คาดการณ์สภาพอากาศช่วงปลายเดือน เม.ย.ถึงกลาง พ.ค.66 ประเทศไทยตอนบน จะยังคงมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ แต่จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นเป็นระยะๆ อากาศจะเริ่มน้อยลง ประกอบกับช่วงต้นเดือน พ.ค.66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะเริ่มพัดปกคลุมภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคตะวันออก ทำให้มีฝนเพิ่มมากขึ้น
จากนั้น ฤดูร้อนของไทย ปีนี้จะสิ้นสุดลง และเข้าสู่ฤดูฝน อย่างเป็นทางการประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค.66
"แม้คนไทยมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อากาศบ้านเราร้อน ร้อนมาก และร้อนที่สุด แต่คำพูดดังกล่าวบอกสภาพอากาศปกติในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศร้อน ซึ่งเท่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายงานว่า พื้นที่ใดมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นคลื่นความร้อนเลย
ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีมวลอากาศร้อนจัด (ยังมีลมพัดหมุนเวียน) ไม่มีทะเลทราย แต่มีพื้นที่อยู่ใกล้ทะเลจึงได้รับความชื้นเข้ามาปกคลุมพื้นที่ ประกอบกับการได้รับอิทธิพลจากลมต่างๆ ที่พัดปกคลุมพื้นที่ตลอดปี นอกจากนี้ ยังได้รับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดฝนตกด้วย
ดังนั้น โอกาสที่จะมีความร้อนสะสมในพื้นที่จนเกิดเป็นคลื่นความร้อนจึงเป็นไปได้น้อย อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนของไทยบางท่านให้ความเห็นว่า ประเทศไทยอาจมีคลื่นความร้อนเกิดขึ้นได้ในอนาคดเช่นกันเนื่องจากในปัจจุบัน ปรากฏการณ์เอลนีโญยังทวีความรุนแรง ทำให้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่แห้งแล้ง และอุณหภูมิอากาศเพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะในฤดูร้อน" นางสาวชมภารี กล่าว
ขณะเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.- 1 พ.ค.66) ฉบับที่ 2 ระบุว่า
ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน
โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้
ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทย และทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน
โดยจังหวัดที่คาดว่าจะมีผลกระทบ มีดังนี้
วันที่ 29 เม.ย.66
ภาคเหนือ: จังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี
ภาคตะวันออก: จังหวัดปราจีนบุรี และสระแก้ว
วันที่ 30 เม.ย.66
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
วันที่ 1 พ.ค.66
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร และพิษณุโลก
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก: จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง
ส่วนบริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง ในช่วงวันที่ 30 เม.ย.-2 พ.ค.66