
วันนี้ (2 ก.ค. 68) นางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย พล.ร.ต.สุรสันต์ คงสิริ โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมแถลงการณ์ศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.)

พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวถึงมาตรการรองรับสถานการณ์ความมั่นคง พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเรื่องแรกคือการรับทราบผลการปฏิบัติงานของ ศบ.ทก. ในการควบคุมพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ตามมติสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2568
เรื่องที่สอง ให้ความเห็นชอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามมติ ศบ.ทก. อาทิ มาตรการควบคุมและผ่อนปรนบุคคล ยานพาหนะ สินค้า รวมทั้งมาตรการบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ
เรื่องที่สาม ความเห็นชอบขยายมาตรการควบคุมจุดผ่านแดน ประเภทต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทั้งการจำกัดและผ่อนผันบุคคล ยานพาหนะ และสินค้าที่ผ่านเข้าออกจุดผ่านแดน
เรื่องที่สี่ มอบหมายให้ ศบ.ทก. เป็นกลไกหลักในการพิจารณายกระดับหรือผ่อนปรนมาตรการรองรับสถานการณ์ความมั่นคง พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ภายใต้กรอบแนวทางที่รัฐบาล หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติ กำหนด

นางมาระตี กล่าวว่า ในวันนี้มี 3 ประเด็นหลัก โดยประเด็นแรกคือ สถานการณ์ทั่วไปในพื้นที่ รวมถึงการบริหารจุดผ่านแดน เมื่อเช้านี้ได้รับรายงานจากหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ขณะนี้ส่วนใหญ่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยหน่วยงานในพื้นที่แจ้งจำนวนคนที่ฝ่ายไทยอนุโลมให้ผ่านด่านรวมกว่า 100 คน ซึ่งขอเรียนว่า ไทยไม่มีการปิดด่าน แต่เข้มงวดการข้ามแดนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ฝ่ายไทยยังคงอนุโลมการผ่านแดน เป็นไปตามความจำเป็นด้านมนุษยธรรม

ประเด็นที่สองคือ มาตรการช่วยเหลือและการผ่อนผัน ขอเรียนว่ารัฐบาล และ ศบ.ทก. อยู่ระหว่างการติดตามเพื่อบริหารผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ที่มีการจ้างงานแรงงานต่างชาติ ชาวกัมพูชา พี่น้องเกษตรกรต่าง ๆ และผู้ได้รับผลกระทบทั่วไป โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานงานมาโดยตลอด กระทั่งล่าสุดเมื่อวานนี้ (1 ก.ค. 68) นายกฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานเร่งดำเนินการ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. มาตรการป้องกันและปราบปรามลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายบริเวณชายแดน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ 2. มาตรการให้กระทรวงแรงงาน เร่งพิจารณามาตรการผ่อนผันการทำงานของแรงงานกัมพูชา ให้กำชับ มท. ออกประกาศรองรับมาตรการต่าง ๆ ให้เหมาะสมตามหลักมนุษยธรรม
ประเด็นที่สาม การดำเนินการด้านการต่างประเทศ ได้รับทราบการดำเนินการต่าง ๆ ยังคงเป็นไปตามท่าทีเดิม กล่าวคือ ความตึงเครียดและประเด็นปัญหาเกี่ยวกับชายแดนในปัจจุบัน ควรจะได้รับการแก้ไขตามกลไกทวิภาคีทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งรวมถึงคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ซึ่งท่าทีดังกล่าว ถือเป็นท่าทีที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงกับหลายประเทศที่กำลังติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา