ย้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทย พรรคการเมืองไหนถูกยุบบ้าง?

ย้อนรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทย พรรคการเมืองไหนถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคบ้าง และแต่ละพรรคโดนยุบเนื่องจากสาเหตุใด

วันนี้ 7 ส.ค. 67 ถือเป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยที่จะมีการอ่านคำวินิจฉัยตัดสินยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมือง จากกรณีที่ กกต. ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลปมหาเสียงแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง 

แน่นอนว่านี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง หากนับถอยหลังย้อนไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 (หลังจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ) จนถึงปัจจุบัน มีพรรคการเมืองถูกยุบไปแล้วกว่า 110 พรรค รวมถึงการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง วันนี้ อีจัน ขอพาย้อนไปดูว่ามีพรรคการเมืองไหนถูกยุบ และกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมืองบ้าง 

ปี พ.ศ. 2550 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2550 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 สั่งยุบพรรคไทยรักไทย ของนายทักษิณ ชินวัตร สาเหตุจากการถูกร้องเรียนเรื่องทุจริตเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยมีข้อมูลระบุเกี่ยวกับการจ้างพรรคเล็ก 2 พรรค ลงสมัครเลือกตั้ง ได้แก่ พรรคพัฒนาชาติไทย และ พรรคแผ่นดินไทย ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจำนวน 111 ราย ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี และกรรมการบริหารของพรรคพัฒนาชาติไทย และ พรรคแผ่นดินไทย ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลา 3 ปี 

ปี พ.ศ. 2551 

วันที่ 2 ธ.ค. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคการเมืองที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาแทนที่ของพรรคไทยรักไทยเดิม ส่วนสาเหตุที่ถูกยุบนั้นก็มาจากรณีที่ นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรค ทุจริตการเลือกตั้งที่ จ.เชียงราย พร้อมถูก กกต.แจกใบแดง ส่งผลให้ กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 37 ราย เป็นระยะเวลา 5 ปี  

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคชาติไทย และ พรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่ถูกสั่งยุบพรรคจากกรณีความผิดเดียวกัน  

ปี พ.ศ. 2562 

พรรคไทยรักษาชาติ ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณืที่สร้างความฮือฮาในช่วงระยะเวลนั้น หลังจากที่พรรคไทยรักษาชาติเตรียมลงสนามสู่ศึกเลือกตั้ง และได้ประกาศแคนดิเดตนายักรัฐมนตรี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีฯ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เชื้อพระวงศ์อยู่เหนือการเมือง ถือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 37 ราย เป็นระยะเวลา 10 ปี ส่วนสมาชิกพรรคบางส่วนนั้นก็ได้ย้ายไหลไปสังกัดพรรคเพื่อไทย  

ปี พ.ศ. 2563 

วันที่ 21 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากกรณีที่ นายธนาธร ได้ให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงิน จำนวน 191 ล้านบาท ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมือง และขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค 16 ราย ถูกตัดสิทธิการเมืองเป็นระยะเวลา 10 ปี

ส่วนวันนี้นั้น ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการอ่านคำวินิจฉัยว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรคก้าวไกล ในเวลา 15.00 น. ผลการตัดสินจะเป็นอย่างไรนั้น สามารถติดตามได้ที่หน้าเพจเฟซบุ๊ก อีจัน ได้