
ตัวจริงคือคนนี้! “บิ๊กอ้วน” ขึ้นคุมบังเหียนรักษาการนายกฯ หลัง “สุริยะ” รับตำแหน่งได้ไม่ถึง 2 วัน
จากกรณี ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 7-2 สั่งให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จากกรณีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 36 คน ยื่นให้ศาลพิจารณา ปมคลิปเสียงสนทนากับ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ที่อาจเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ก่อนที่จะมีการแต่งตั้ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี นั้น

ล่าสุด (2 ก.ค. 68) หลังจากผ่านไปเพียง 1 วันครึ่ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เปิดเผยว่าตนจะทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ และหลังจากถวายสัตย์ปฏิญาณเสร็จสิ้น นายภูมิธรรม เวชยชัย จะทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีแทน พร้อมเซ็นเอกสารลงนามแต่งตั้งแล้ว วันนี้ “อีจัน” จะพาทุกคนไปทำความรู้จัก “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ภูมิธรรม เวชยชัย เกิด 5 ธันวาคม พ.ศ. 2496 สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนทวีธาภิเศก ระดับปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2518 และระดับปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ. 2527 และได้ผ่านการศึกษาหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ใน พ.ศ. 2547
ในปี พ.ศ. 2522 ภูมิธรรมเป็นรองผู้อำนวยการโครงการอาสาสมัคร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้หันเหมาทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ประจำสำนักประธานบริหารกลุ่มบริษัทในเครือชินวัตร ในระหว่าง พ.ศ. 2540 – 2541
เส้นทางการเมืองของนายภูมิธรรม เกิดขึ้นตั้งแต่ภูมิธรรมเป็นนิสิตจุฬา เมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา และเหตุการณ์ 6 ตุลา จนได้รับการขนานนามว่า “สหายใหญ่” ภายหลังเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ประจำ รศ. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และเป็นรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย กระทั่งปี พ.ศ. 2548 ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งในระหว่างดำรงตำแหน่งได้นำเสนอพระราชกฤษฎีกา ต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 ให้ยุบเลิกองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) โดยให้เหตุผลว่า มีปัญหาขาดสภาพคล่อง และมีหนี้สินสะสมกว่า 1,800 ล้านบาท และไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับธุรกิจขนส่งของเอกชน

อย่างไรก็ตาม พ.ศ. 2550 นายภูมิธรรม ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 กระทั่งใน พ.ศ. 2555 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกให้ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค
ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2566 นายภูมิธรรมได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ก่อนที่ต่อมาจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในคณะรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน
13 กันยายน พ.ศ. 2566 อดีตนายกฯ เศรษฐา ได้มอบหมายให้นายภูมิธรรม เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และในปีถัดมา เขาได้เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

กระทั่ง 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีโดยขาดคุณสมบัติของความเป็นรัฐมนตรี จึงทำให้ภูมิธรรม ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 จึงทำหน้าที่รักษาการจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และในเดือนถัดมาเขาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ก่อนที่ล่าสุดจะเกิดกรณี คลิปเสียงสนทนาระหว่างผู้นำไทย–กัมพูชา จีงเป็นเหตุให้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกสั่งยุติปฎิบัติหน้าที่ชั่วคราว ทำให้นายภูมิธรรม เวชยชัย ขึ้นทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี ต่อเมื่อ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้รักษาการนายกฯ นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฎิญาณ และเซ็นลงนามแล้ว