รัฐบาลแห่งชาติ คืออะไร ? ทำไมพูดถึงในการตั้งรัฐบาล 2566

รัฐบาลแห่งชาติ คำมาแรงที่ถูกพูดถึงในการตั้งรัฐบาล 2566 มีประเด็นมาจาก ส.ว. จนนำมาสู่แฮชแท็ก ส.ว.มีไว้ทำไม ที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์

รัฐบาลแห่งชาติ!!!

กลายเป็นคำที่ได้ยินถี่ยิบในช่วงนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 31 พ.ค.66 นายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา ออกมาให้ความเห็นว่า มีแนวคิดที่อยากเสนอในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ในฐานะรองประธาน กมธ. ว่า สิ่งที่ตอบโจทย์การเมืองได้ตอนนี้คือ “รัฐบาลแห่งชาติ” โดยแต่ละพรรคนำข้อดีของตนเองร่วมทำงานเพื่อบ้านเมือง สร้างความแข็งแกร่งของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยโมเดลของตนคือให้ทุกพรรคนำส่วนที่ดีมาทำงานร่วมกัน ประสานประโยชน์ พุ่งเป้าที่ความมั่นคงของชาติ

หลังข่าวนี้แพร่ออกไป น.ต. ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ทันที ว่า

…สมาชิกวุฒิสภา เสนอให้งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อตั้ง #รัฐบาลแห่งชาติ

ผมว่างดใช้รัฐธรรมนูญมาตราเดียว

ไม่ต้องให้ #สว250คน มาเลือกนายก

เราก็ได้ #รัฐบาลแห่งประชาชน แล้วครับ

#สวมีไว้ทำไม

ประเด็นดังกล่าวทำให้แฮชแท็ก สว.มีไว้ทำไม ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ทันที โดยเนื้อหาที่ถกเถียงกันในทวิตเตอร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล 2566 หลังรู้ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 ซึ่งพรรคก้าวไกลได้คะแนนมากเป็นอันดับหนึ่งและอยู่ระหว่างรวมกับอีก 7 พรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

วันนี้คำว่า “รัฐบาลแห่งชาติ” มาแรง เรามารู้ความหมายของคำนี้กัน

คำว่า “รัฐบาลแห่งชาติ” ยังเป็นข้อเสนอที่ไม่ได้มีคำนิยามอย่างแน่ชัด

นับตั้งแต่ช่วงที่มีการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556-2557 จนถึงหลังการเลือกตั้งในปี  2562 ข้อเสนอเรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” เกิดขึ้นอย่างน้อย 4 ครั้ง

แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ได้เกิดขึ้น

กระทั่งการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 14 พ.ค.66 คำว่า “รัฐบาลแห่งชาติ” กลับมาอีกครั้ง

โดยคำว่ารัฐบาลแห่งชาติในประเทศไทย จะถูกโยงเข้ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรีคนกลาง, นายกรัฐมนตรีคนนอก หรือนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ที่มักจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และได้รับการแต่งตั้งในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งทางการเมือง โดยตำแหน่งนายกดังกล่าวกับรัฐบาลแห่งชาติ มีความเกี่ยวโยงกันดังนี้

นายกรัฐมนตรีคนกลาง ในการเสนอ รัฐบาลแห่งชาติ มักถูกโยงเข้ากับพรรคการเมืองและคนที่เสนอเป็นหลัก เพื่อจัดตั้งเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจที่ไม่มีฝ่ายค้าน และทำหน้าที่เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนกลาง มักถูกหยิบยกมาพูดเมื่อประเทศไทยเจอกับวิกฤตทางการเมืองมักลงเอยด้วยทางเลือก 3 ทาง ได้แก่ 1. ยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่ 2. ไม่ยุบสภา แต่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และ 3. ไม่ยุบสภา แต่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

นายกรัฐมนตรีคนนอก เป็นการกล่าวถึงนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งกระแสนายกรัฐมนตรีคนนอก ได้รับการกล่าวถึงบ่อยครั้งนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จนถึงช่วงการเลือกตั้งปี 2562 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่ได้ระบุคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีว่าต้องเป็น ส.ส

นายกรัฐมนตรีพระราชทาน คือนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ เป็นรูปแบบการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในระบอบประชาธิปไตยที่สืบทอดมาจากประเพณีการปกครองดั้งเดิม โดยมักระบุข้อความไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว หลังจากเกิดการรัฐประหารว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2560 ได้มีการระบุไว้ในมาตรา 5 พระมหากษัตริย์ทรงไม่สามารถจัดตั้งนายกรัฐมนตรีพระราชทานได้ทันที ต้องสงวนไว้ใช้ในสถานการณ์พิเศษเท่านั้น เช่น เกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างรุนแรง กระทั่งไม่มีผู้ใดรับเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ หรือไม่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่จะอำนวยการในการบริหารประเทศ ณ ขณะนั้น

ทว่า สถานการณ์ทางการเมือง ณ เวลานี้ 1 มิ.ย.66 ที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งมาเพียงครึ่งเดือน จึงยังมีเวลาที่พรรคก้าวไกล พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 จะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล 2566 เนื่องจากตามไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาล 2566 คือ

-ภายใน 13 กรกฎาคม 2566 กกต. ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ครบ 500 คน

-ก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 เปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

-จากนั้นปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

-และต้นเดือนสิงหาคม 2566 จัดตั้งรัฐบาล ทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

อ้างอิงข้อมูล : https://ilaw.or.th/node/5246

คลิปอีจันแนะนำ
พิธา ประกาศ MOU 23 ข้อ ร่วม 7 พรรค ตั้งรัฐบาล