สรุปประเด็น หุ้น ITV คืออะไร ทำไม ‘พิธา’ โดนร้องเรียน

หุ้น ITV นี้เป็นหุ้นสื่อหรือเป็นแค่หุ้นธรรมดา พร้อมโอกาสเป็นไปได้ที่พิธาจะรอดคดี

ผลการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 39,293,867 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52,238,594 คน คิดเป็น 75.22% พรรคก้าวไกล โดยการนำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 จากประชาชนกว่า 14 ล้านเสียง

แต่เส้นทางการจัดตั้งรัฐบาลยังมีอุปสรรคในหลายเรื่อง ถกเถียงกันบนโซเชียลจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์แล้วหลายต่อหลายครั้ง เช่น การช่วงชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือ ประธานรัฐสภา รองจากเก้าอี้รัฐมนตรี กระทรวงสำคัญ อีกทั้ง ความเหนียวแน่นของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ยากจะวางใจ รวมถึงเรื่อง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 250 คน ที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

จนล่าสุด มีเรื่องคำร้อง นายพิธา ถือหุ้นสื่อ ITV หรือ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โผล่ขึ้นอีก จนอดห่วงไม่ได้ว่าจะซ้ำรอยการถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สิ้นสภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

หุ้น ITV คืออะไร ?

หุ้น ITV ชื่อเต็มคือ Independent Television หรือ สถานีโทรทัศน์เสรี ตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 เพื่อต้องการให้คนไทยไม่ถูกปิดกั้น และรับรู้ข่าวสารได้อย่างถูกต้อง และเป็นกลาง เนื่องจากในสมัยนั้นช่องโทรทัศน์ต่างอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ทำให้ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นถูกรายงานอย่างจำกัด และไม่ชอบธรรมนัก

แรกเริ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ITV คือ บริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ปี 2540 บริษัทเจอปัญหารุมเร้า จากวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงได้ขายหุ้นให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในปี 2543 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายห้ามนายกรัฐมนตรีถือหุ้นสื่อ

และกฎหมายหุ้นสื่อนี้ เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2550 และรายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะแตกต่างกับปี 2560 ด้วย โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดให้ผู้ที่จะเป็น ส.ส. สามารถขาย หรือโอนหุ้น ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรับรองผลเป็น ส.ส. ได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ต้องจัดการเรื่องหุ้นให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะสมัคร ส.ส.

ซึ่งหลังจาก นายทักษิณ เป็นเจ้าของเกิดกบฏ ITV ขึ้น โดยทีมข่าวนั่นเอง เพราะมองว่านักการเมืองไม่ควรเป็นเจ้าของสื่อ เนื่องจากผู้บริหาร บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สั่งห้ามนำเสนอข่าวที่เป็นด้านลบเกี่ยวกับนายทักษิณ ซึ่งผลจากการเรียกร้องนี้ เป็นเหตุให้นักข่าวจำนวน 23 คน ถูกไล่ออก

เช่น นายกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าวรายการข่าว 3 มิติ, นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และคุณกรุณา บัวคำศรี ผู้ประกาศข่าวและผู้ผลิตรายการรอบโลกเดลี่ ทางช่อง PPTV นอกจากนี้ เรื่องค่าสัมปทานยังเกิดการฟ้องร้อง จากหนี้มหาศาลทำให้กิจการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ต้องปิดตัวลง

ถัดมา กลุ่มชินวัตร ขายหุ้นชินคอร์ปให้บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (เทมาเส็ก) ของรัฐบาลสิงคโปร์ จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ 75% ใน ITV ในเวลานี้ คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ของนายสารัชถ์ รัตนาวะดี เศรษฐีหุ้นไทยหลายสมัยซ้อน

จุดเริ่มต้นคำร้อง ถือหุ้นสื่อ ITV

มาจากวันที่ 9 พ.ค.66 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) และสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทรษช.) อีกทั้ง เคยยื่นฟ้องร้อง นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ว่าการจัดรายการโทรทัศน์ชิมไป บ่นไป ทางช่อง 3 เป็นการผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง

เป็นผู้ออกมาเปิดเผย โดยอ้างว่าตรวจสอบพบข้อมูล นายพิธา ถือหุ้นสื่อ ITV จำนวน 42,000 หุ้น (0.0035%) และยังพบว่า ITV ประกอบกอบกิจการรับจ้างโฆษณาและประชาสัมพันธ์ทุกชนิด ทุกประเภท มีรายได้ปี 2565 รวม 21 ล้านบาท และมีรายได้ปี 2564 รวม 24 ล้านบาท และบริษัทมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) เมื่อวันพุธที่ 26 เม.ย.66

และในวันเดียวกัน นายพิธา ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ใจความว่า กรณีหุ้น ITV ไม่มีความกังวล เพราะไม่ใช่หุ้นของตัวเอง เป็นของกองมรดก มีฐานะเป็นเพียงผู้จัดการมรดก ได้ปรึกษาและแจ้งต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ไปนานแล้ว พร้อมย้ำว่า ทีมกฎหมายพร้อมชี้แจงอยู่แล้ว เมื่อ กกต. ส่งคำร้องมา

ถัดมา นายนิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขต 17 คลองสามวา พรรคภูมิใจไทย และอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ เผยว่า กรณีนายพิธา คล้ายกับกรณีตัวเอง แม้จะระบุว่าเป็นเพียงผู้จัดการมรดก แต่ในเอกสารพบว่า นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ บิดาของนายพิธาเสียชีวิตในปี 2549 มีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก 3 คน หนึ่งในนั้นคือ นายพิธา

การที่ นายพิธา อ้างว่าเป็นผู้จัดการมรดกในทางกฎหมายทายาทเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกจากผู้เสียชีวิต ดังนั้น หุ้น ITV จะต้องตกเป็นของทายาทในสัดส่วนเท่าๆ กัน ย่อมหมายความว่า นายพิธา ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้น ITV จำนวน 14,000 หุ้น และได้ตั้งข้อสงสัยว่า นายพิธา จะอ้างว่าไม่ใช่เจ้าของหุ้นไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่าสละมรดก

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 10 พ.ค.66 นายเรืองไกร ได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวว่า นายพิธา มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือไม่ พร้อมยื่นให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ

ถัดมา วันที่ 6 มิ.ย.66 นายพิธา โพสต์เฟซบุ๊ก แจงเรื่องหุ้น ITV ใจความดังนี้ หุ้น ITV เป็นสื่อถึงแค่ 7 มี.ค.50 และปิดกิจการลง เพราะฉะนั้นหลัง นายพิธา ได้เป็นเป็นผู้จัดการมรดก หุ้นตัวนี้จึงเป็นแค่หุ้นธรรมดา แต่ยังมีสถานะทางบริษัทอยู่ เพราะมีการฟ้องร้องจากหน่วยงานรัฐ และมีการแสดงกับ ป.ป.ช.ตามปกติไม่ได้ปิดบัง

แต่มีความผิดปกติที่อยู่ๆ หุ้น ITV มีการแก้ประเภทธุรกิจ ปี 2563, 2564 เปลี่ยนเป็นธุรกิจสื่อโทรทัศน์ ปี 2565 เปลี่ยนเป็นสื่อโฆษณาและตอบแทนจากการลงทุน และในช่วง เม.ย.66 ก่อนวันเลือกตั้งไม่กี่วันมีการพูดถึงหุ้นตัวนี้ ซึ่งตัวนายพิธาเอง ก็คิดว่ามีความผิดปกติ ในทำนองที่ว่า พยายามจะเอาหุ้นตัวนี้กลับมาเป็นหุ้นสื่ออีกครั้ง โดยผู้ทำเอกสารบัญชีคือ บริษัท อินทัช

ถ้าอ้างอิงจากคำวินิจฉัยศาล คดีเรื่องหุ้นสื่อที่เคยเกิดขึ้นกับ ส.ส.ในอดีต นายพิธา มีโอกาสรอดจากข้อร้องเรียนสูงมาก เพราะนายพิธาถือหุ้นจำนวนน้อยมาก (0.0035%) จนไม่สามารถออกคำสั่งโจมตีพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือสร้างความไม่เป็นธรรม ทำให้ประชาธิปไตยบิดเบือนได้

สุดท้ายแล้ว เรื่องคำร้อง นายพิธา ถือหุ้นสื่อ ITV จะจบอย่างไร ต้องติดตามต่อไป

คลิปอีจันแนะนำ
“ช่อ พรรณิการ์” สรุปปมหุ้น iTV