#หุ้นitv ยังติดเทรนด์ ‘สฤณี-สารวัตรเพียว’ รุมจับโป๊ะ เจอพิรุธพรึบ

แฮชแท็ก #หุ้นitv ยังแรง! ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ หลายวันติด ‘สฤณี-สารวัตรเพียว’ เจอพิรุธพรึบ รุมจับโป๊ะหนัก ลุ้นต่อจบอย่างไร-เขย่าเก้าอี้ นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้หรือไม่?

#หุ้นitv ยังติดอันดับเทรนด์ทวิตเตอร์ต่อเนื่อง หลัง ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวชื่อดัง จากรายการข่าว 3 มิติ เปิดเผยเอกสารงบการเงินไตรมาส 1/2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 28 เม.ย.66 หรือ 2 วัน พบระบุว่า ไอทีวีเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา

อีกทั้ง วันนำส่งบัญชี คือ 10 พ.ค.66 ยังตรงกับวันที่มีการยื่นคำร้องคดีถือหุ้นไอทีวีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่างจาก ปี 2565 ที่ไม่ระบุว่า ไอทีวีเป็นสื่อโฆษณา เพียงรายจากผลตอบแทนจากเงินลงทุนและดอกเบี้ยรับ

ขณะที่ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่าน เพจ ‘Sarinee Achavanuntakul-สฤณี อาชวานันทกุล’ ระบุว่า

แถมอีกประเด็นนะคะ เรื่องความผิดปกติของเอกสาร ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ของไอทีวี

1.ไอทีวีเป็นบริษัทมหาชนที่ถูกถอดออกจากตลาดหุ้นนานแล้ว ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดทำและนำส่งงบการเงินรายไตรมาส

2.ปกติงบไตรมาสถ้านำส่งทางการ จะผ่านการสอบทานโดยผู้สอบบัญชี (ละเอียดน้อยกว่าการตรวจสอบหรือ audit งบประจำปี)

3.การจัดทำร่างงบไตรมาสที่ยังไม่ผ่านการสอบทานไม่ใช่เรื่องผิดปกติ การจัดทำร่างระดับ draft for internal use (ใช้เพื่อการภายในเท่านั้น) ก็ไม่ผิดปกติ เพราะร่างงบไตรมาสมีประโยชน์ในการจัดการ-สิ่งที่ผิดปกติจริงๆ ในกรณีของไอทีวี คือ มีการนำร่างงบไตรมาส draft for internal use ใช้เพื่อการภายในเท่านั้น ขึ้นเผยแพร่บนเว็บบริษัทอินทัชที่คนทั่วไปสามารถกูเกิลและเข้าถึงได้ และเอกสารภายในนี้ถูกนำไปประกอบการร้องเรียนต่อ กกต.

4.หัวข้อ 10. ท้ายร่างงบไตรมาส 1 ปี 66 ชื่อหัวข้อก็บอกอยู่แล้วว่า ‘เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน’ แปลว่า ไม่ต้องไปคาดหวังความสอดคล้องระหว่างรายการนี้กับข้อมูลด้านการเงินใดๆ ในงบตัวนี้ (หรือแม้แต่งบไตรมาสเดียวกันของบริษัทแม่คืออินทัช)- แต่สังเกตความเร่งรีบจากกั้นหลังที่ไม่ตรงกับข้ออื่นๆ

5.คนที่ทำบัญชีให้ไอทีวีตลอดมาหลายปีคืออินทัช ดังนั้น อินทัชคือผู้ที่ควรชี้แจงว่ารายการ “นำเสนอการลงสื่อใหักับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน” ในข้อ 10. คือรายการอะไร ไอทีวีมีพนักงานทำหรือ? แล้วทำไมข้อความในแบบนำส่งงบปี 2565 (ส.บช3) ถึงได้ระบุ “สื่อโฆษณา” ทั้งที่รายการที่เกี่ยวข้องนี้เพิ่งมาโผล่ใน “ร่าง” งบไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยในวันประชุม 26 เม.ย. ยังไม่รู้เรื่องนี้เลย ?

ประธานคิมห์งานเข้าอีกหลายเรื่องเลยค่ะ เอาใจช่วย

ด้าน พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ หรือ สารวัตรเพียว อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก Chavalit Laohaudomphan-ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ระบุว่า งบการเงิน (ส.บช.3) ที่ไอทีวีส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นการรายงานที่เป็นเท็จ!!!

ผมอยากชวนทุกท่านมาร่วมพิสูจน์ไปด้วยกันครับ

“งบการเงิน” และ “หมายเหตุประกอบงบการเงิน” ของบริษัทไอทีวีปี 2565 ทั้งหมด 33 หน้า ถูกคณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้ออกงบเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2566 และนำส่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ผมได้แนบเป็นภาพมาในโพสนี้แล้ว

ทุกท่านสามารถเข้าไปโหลดมาดูได้ด้วยตาของทุกท่านเองในเว็บไซต์ของ กลต. ในลิงค์ด้านล่างได้เลยครับ ว่า มีคำว่า “สื่อโทรทัศน์” หรือ “กิจกรรมการเผยแพร่ภาพยนตร์วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์” หรือ ข้อความที่สื่อความหมายว่า “ยังดำเนินกิจการอยู่” บ้างไหม?

นี่คือเอกสารที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาปกติ ก่อนที่จะมีกระบวนการพยายามฟื้นคืนชีพไอทีวีให้เป็นสื่อหลังจากวันประชุมผู้ถือหุ้น

(วันประชุมผู้ถือหุ้น 26 เม.ย.66 ประธานในที่ประชุมยังตอบคำถามปกติ ดูจากในคลิปที่ตอบว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน” อย่างที่เราทราบกันแล้ว)

หลังจากวันประชุมผู้ถือหุ้นไม่นาน จึงเกิดความผิดปกติ เกิดการทำเอกสารบันทึกการประชุมเท็จ อย่างที่เราทราบกัน

ในเมื่อ เอกสารบันทึกการประชุม หมดความน่าเชื่อถือ บรรดาคนที่ให้ความเห็นเรื่องนี้ในทางที่จะให้ไอทีวีเป็นสื่อให้ได้ จึงดิ้นเปลี่ยนมา อ้าง งบการเงินปี 65 ที่ปรากฎในเว็บกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแทน ซึ่ง มีข้อความว่า

“สถานะนิติบุคคล ยังดำเนินกิจการอยู่” และ “ประเภทธุรกิจที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด ประเภทธุรกิจ 59131 กิจกรรมการเผยแพร่ภาพยนตร์วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์ วัตถุประสงค์ สื่อโทรทัศน์”

ซึ่งขัดแย้งกับ งบการเงินปี 65 33 หน้า นี้

ทำไมข้อมูลถึงขัดแย้งกัน ทั้งๆ ที่เป็นงบการเงินปี 65 เหมือนกัน รหัสผู้ตรวจสอบบัญชี คนเดียวกัน?

นั่นเพราะ การส่งข้อมูลงบการเงินให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เกิดขึ้นในวันที่ 10 พ.ค.2566 ซึ่งอยู่ในช่วงกระบวนการพยายามฟื้นคืนชีพไอทีวีให้เป็นสื่อ

ไอทีวี ในการดำเนินการของ อินทัช จึงส่ง “แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3)” ปี 2565 ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมีข้อความเกี่ยวกับสถานะการดำเนินกิจการ และประเภทธุรกิจ ขัดแย้ง ตรงกันข้ามกับ งบการเงินปี 2565 ที่อนุมัติในวันที่ 24 ก.พ.2566 และปรากฎในเว็บไซต์ของ กลต.

สรุป แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ที่ไอทีวีส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงเป็นการรายงานที่เป็นเท็จ

(ลิงค์ดาวน์โหลดงบการเงินปี 2565 จากเว็บไซต์ กลต. https://market.sec.or.th/…/FinancialReport/FS-0000002058)