ขนมลา หลาเปรต ขนมสำคัญ งานบุญสารทเดือนสิบ

เปิดความเชื่อคนใต้ “ขนมลารสหวาน กับตำนานผ้านุ่งเปรต!” ทำไมต้องใช้ขนมลา ในงานชิงเปรต?

ขนมลา ขนมขึ้นชื่อของคนใต้ โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช เป็นทั้งของฝาก และยังใช้ในเทศกาลงานบุญสารทเดือนสิบ

ขนมลาเป็นขนมหนึ่งใน 5 ชนิดของขนมที่ใช้ในงานบุญสารทเดือนสิบ “งานบุญสารทเดือนสิบ” เป็นประเพณีทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว หรือชาวใต้จะเรียกกันว่า “บุฟเปตพลี”

จันเคยได้ยินมาว่า ขนมลา มีไว้สำหรับเปรต? เมื่อจันสงสัย…จันต้องกระจ่าง

 ไม่รอช้าจันต่อสายตรงถึงคนในท้องถิ่นทันที จันได้พุดคุยกับคุณตาตุด ชูนาคา ชาวชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ตาตุดเล่าว่าคนใต้ มีความเชื่อที่ว่าบรรพบุรุษที่คนเฒ่าคนแก่ล่วงลับไปแล้ว จะไปตกภพภูมิที่ดี หรือความยากลำบาก เลยต้องมีเทศกาลงานบุญสารทเดือนสิบเพื่อเป็นแนวทาง หรือตัวแทนในการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น

ส่วนขนมประจำงานบุญสารทเดือนสิบ ก็จะมีขนมลา ขนมกง ขนมดีชำ ขนมสะบ้า และขนมพองที่ชาวบ้านจะใช้เป็นประจำในงานบุญสารทเดือนสิบ ซึ่งขนมแต่ละชนิดก็จะบ่งบอกถึงความหมายในตัว

พูดถึงขนมลา เป็นตัวแทนอาหารและแพรพรรณ หรือตัวแทนเครื่องนุ่งห่ม สำหรับเปรตหรือผู้ล่วงลับไป หรือบางท้องถิ่นก้เชื่อว่า ขนมลาเป็นอาหารของเปรต เพราะขนมลามีเส้นขนาดเล็ก เปรตที่มีปากขนาดเล็กเท่าปลายเข็มก็สามารถกินได้

ส่วนชื่อของ ขนมลา ตาตุดบอกว่า น่าจะเรียกตามภาชนะที่ใช้ตวงแป้งก่อนระเรง ลงกระทะ ก็คือกะลามะพร้าว เพราะสมัยก่อนยังไม่มีกระป๋องใส่แป้งในการทอดลาใช้กะลา คนใต้เรียก “พรก” นำมาเจาะรูเล็กๆ หลายรู เมื่อตักแป้งใส่แล้วจึงแกว่งส่าย แกว่งเป็นวงกลมไปตามรูปกระทะ แป้งที่ดีเส้นต้องไม่ขาด และเส้นต้องเล็กเท่ากับเส้นด้าย สีแป้งสะท้อนแวววาวเป็นประกาย ถ้าเส้นแป้งใหญ่จะเป็นปัญหาด้านความเชื่อที่ว่า “เปรตจะกินขนมลาไม่ได้”

และอีกความหมายของขนมลาที่เพราะลักษณะที่ชัดเจนบ่งบอกถึงสายใยถักทอกันอย่างเหนียวแน่น ความผูกพันของญาติพี่น้องและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว มี่ถูกส่งต่อไปไม่ขาดสายรุ่นสู่รุ่น

จันจึงกระจ่างว่า ทุกท้องถิ่นสร้างความเชื่อขึ้นมาเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจของคนที่อยู่และคนที่ล่วงลับไป ให้รู้ว่าสายใยนั้นไม่มีวันขาดกัน บางครั้งไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าสิ่งที่คนอยู่ทำให้คนตายนั้นบรรลุหรือไม่ แต่พวกเขาก็มุ่งมั่นทำในสิ่งนี้ต่อไป