เปิดข้อมูล ลัทธิสยอง ? ใช้เลือดเนื้อถวายพุทธบูชา

เปิดข้อมูล ลัทธิสยอง ? ใช้เลือดเนื้อถวายพุทธบูชา พบหลักฐานในพงศาวดาร

จากกรณีเจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ภูหินกอง บั่นหัวตัวเอง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ทำให้ประชาชนหลายคนสงสัย “มีพิธีกรรมนี้ในพระพุทธศาสนาจริงหรือ?”

พระตัดคอตัวเอง ถวายเป็น พุทธบูชา?

โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน!!!

ล่าสุดวันนี้ (18 เม.ย. 64) จันนำข้อมูลจากหนังสือ “ดำรงวิชาการ” ที่อธิบายเรื่องพิธีกรรมดังกล่าวว่า ช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานระบุในพระราชพงศาวดาร ว่ามีการเผาตัวตาย เพื่อมุ่งหมายการตรัสรู้ในพุทธศาสนา 2 ราย คือนายบุญเรือง (หรือเรือง) ในปี พ.ศ. 2333 และนายนก ในปี พ.ศ. 2360 แต่จากหลักฐานร่วมสมัย ปรากฏว่าในช่วงใกล้เคียงกันนั้น ยังมีบุคคลอื่นที่เผาตัวตายด้วยวัตถุประสงค์ทางศาสนาอีกอย่างน้อย 2 ราย เป็นสามเณรและนางชี รวมทั้งมีบันทึกถึงความนิยมในการเฉือนเนื้อเอาเลือดมาเป็นน้ำมันจุดตะเกียง หรือเอาดาบแทงตัวเอง เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าก็มี โดยผู้ที่กระทำเช่นนี้ มีตั้งแต่ระดับชาวบ้าน นักบวช ไปจนถึงสมาชิกชั้นสูงในพระราชวงศ์

เรื่องทำนองนี้อาจดู “นอกรีต” ในสายตาพุทธศาสนิกชนยุคปัจจุบัน ทว่า อย่างน้อยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และถือเป็นกรณียกิจอันควรยกย่อง

ที่มาของการบูชา “ด้วยเลือดด้วยเนื้อ” เหล่านี้ น่าจะมาจากความเชื่อที่แพร่หลาย เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า 10 พระองค์ ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต ดังที่ระบุไว้ในคัมภีร์ “อนาคตวงศ์” เรื่องราวของพระอนาคตพุทธเจ้าใน อนาคตวงศ์ นั้น ล้วนแล้วแต่บำเพ็ญกุศลอย่างเด็ดขาดรุนแรง เช่น ตัดศีรษะ หรือเผาศีรษะของตัวถวายเป็นพุทธบูชา

เรื่องราวเหล่านี้ อาจสร้างมาตรฐานและเป็นต้นแบบของการนับถือพุทธศาสนาในยุคนั้น ในระดับที่ถือเป็น “ลัทธิ” ได้เลยทีเดียว เราอาจเรียกลัทธินี้ตามนามของคัมภีร์ สำคัญได้ว่าเป็น “ลัทธิอนาคตวงศ์” ซึ่งเป็นพุทธศาสนาประชานิยมในยุคต้นสมัยกรุงเทพฯ ก่อนที่จะถูกเบียดขับและทำให้ลืมเลือน ด้วยกระแส “เหตุผลนิยม” ของพุทธศาสนา “สมัยใหม่” เช่น ธรรมยุติกนิกาย ที่เฟื่องฟูขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน จันขอนำเรื่องของนายบุญเรือง ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกไว้ว่า

“จุลศักราช 1152 ปีจอโทศก ครั้งนั้นนายบุญเรือง เป็นคนมีศรัทธา มีเพื่อนสองคนคือขุนศรีกัณฐัศกรมม้า กับนายทองรัก พากันไปที่พระอุโบสถวัดครุทธาราม ตั้งปรารถนาพระพุทธภูมิด้วยกันทั้งสามคน ชวนกันนมัสการพระพุทธรูปพระประธาน แล้วตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงดอกบัวอ่อนคนละดอก บูชาพระพุทธเจ้าว่า “ถ้าผู้ใดจะสำเร็จแก่พระโพธิญาณในอนาคตกาลแล้ว ขอให้ดอกบัวของผู้นั้นจงบานเห็นประจักษ์โดยแท้”

พอรุ่งขึ้นดอกบัวของนายบุญเรืองนั้นก็บานดอกเดียว แต่ดอกบัวของขุนศรีกัณฐัศ นายทองรักนั้น ไม่บาน ตั้งแต่นั้นมานายบุญเรือง ก็มาอาศัยอยู่ที่การเปรียญเก่า ณ วัดแจ้ง ตั้งสมาทานพระอุโบสถศีลฟังพระธรรมเทศนา เอาสำลีชุบน้ำมันเป็นเชื้อพาดแขนทั้งสองข้าง จุดเพลิงบูชาต่างประทีบทุกวัน ๆ

เมื่อถึงวันศุกร์เดือน 3 ขึ้น 8 ค่ำ เวลากลางคืนประมาณทุ่มเศษ นายบุญเรืองฟังพระธรรมเทศนาจบแล้ว ก็นุ่งห่มผ้าชุบน้ำมัน เดินออกมาน่าการเปรียญ นั่งพับเพียบพนมมือตั้งสติรักษาจิตระงับสงบดีแล้วจึงจุดเพลิงเผาตัว เมื่อเปลวไฟวูบท่วมตัวนั้น นายบุญเรือง ร้องประกาศแก่คนทั้งปวงว่าสำเร็จความปรารถนาแล้ว…”

เหตุการณ์การเผาตัวตายของนายบุญเรือง (หรือนายเรือง) ที่หน้าศาลาการเปรียญเก่า วัดอรุณราชวราราม เมื่อปี พ.ศ. 2333 สมัยรัชกาลที่ 1 นั้น หากพิจารณาโดยเอกเทศ ก็อาจดูเหมือนเป็นเรื่องของคนคลั่งศาสนาที่กระทำไปโดยลำพังตัว แต่ที่น่าสนใจก็คือไม่ได้มีแค่นายบุญเรืองเท่านั้น อีก 27 ปีต่อมา ในรัชกาลที่ 2 ณ สถานที่แห่งเดียวกันนั้น นายนก ก็เผาตัวตายด้วยความมุ่งหมายจะบรรลุพระโพธิญาณอีกคนหนึ่ง

ในยุคนั้น การสละชีวิตเพื่อบูชาพระรัตนตรัย แลกเอาพระนิพพานคงถือเป็นบุญกิริยาอันใหญ่หลวง และเป็นเรื่องอันน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่ง

ต่อมา (อาจจะในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยเหตุผลดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า) จึงมีการสร้างรูปนายเรือง นายนก เป็นหินสลักไว้ที่วัดอรุณฯ พร้อมสร้างศิลาจารึกติดที่ฐานใต้รูป กล่าวถึงประวัติการณ์ ที่เป็นมาแต่เดิมเหตุการณ์การเผาตัว และการปลงศพ รวมทั้งปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้น