มิชลิน ไกด์ ร่วม ททท. ขยายขอบเขต คัดสรรร้านอาหาร สู่ “ภาคอีสาน” ของไทย

มิชลิน ไกด์ จับมือ ททท. จัดงานแถลงการขยายขอบเขต คัดสรรร้านอาหาร สู่ “ภาคอีสาน” ของไทย รวม 4 จังหวัด

มิชลิน ไกด์ ขยายขอบเขตการคัดสรรร้านอาหารปีที่ 6

สู่ “ภาคอีสาน” ของไทย

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 65 เวลาประมาณ 10.00 มิชลิน ไกด์ และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานแถลงข่าว “การขยายขอบเขตคัดสรรร้านอาหาร” เข้าสู่ “ภาคอีสาน” ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของไทยครอบคลุม 20 จังหวัด

โดยคู่มือมิชลิน ไกด์ ประเทศไทย ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นฉบับที่ 6 ของไทย และมีกำหนดเผยแพร่ปลายปี 2565 นี้ ซึ่งได้เลือกให้จังหวัด นครราชสีมา, อุบลราชธานี, อุดรธานี และขอนแก่น เป็น 4 เมืองตัวแทนภาคอีสาน เพื่อจะสะท้อนอัตลักษณ์อาหารอีสานที่โดดเด่นและมีรสชาติจัดจ้าน ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย

เกว็นดัล ปูลเล็นเนค (Gwendal Poullennec) ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ทั่วโลก เผยว่า ผู้ตรวจสอบของมิชลินประทับใจในอาหารอีสาน ที่มีวิธีการประกอบอาหารแบบเรียบง่ายแต่กลับให้รสชาติที่ลึกซึ้งและซับซ้อน ทั้งยังมีเทคนิคการถนอมอาหารที่ถือเป็นจุดเด่นของอาหารอีสานและแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาพื้นบ้าน เช่นการหมักดองปลาและผักตามฤดูกาลให้สามารถเก็บไว้ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารได้นานขึ้น โดยมีเครื่องปรุงรสพื้นฐานในครัวอีสานอย่าง “ปลาร้า” จากการนำปลาในท้องถิ่นมาหมักกับเกลือและข้าว เป็นวัตถุดิบยอดนิยมที่ใช้ใส่ในอาหารและน้ำจิ้มต่างๆ แทบทุกจาน ทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติมาตั้งแต่ปี 2555 อีกด้วย

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดทำคู่มือ “มิชลิน ไกด์ ประเทศไทยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไท (ททท.) ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยบนเวทีโลกในฐานะแหล่งท่องเที่ยวด้าน “วัฒนธรรมอาหาร”

โดยจำนวนร้านอาหารในคู่มือฯ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรุกดำเนินการสำรวจพื้นที่ใหม่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย เพื่อค้นหาร้านอาหารที่ดีที่สุด ทั้งร้านอาหารต่างพยายามพัฒนาคุณภาพและบริการเพื่อให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ของ “มิชลิน ไกด์”

“อาหารอีสาน” ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจาก “อาณาจักรสุโขทัย” และ “อาณาจักรเขมรโบราณ” รวมทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และจีน ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบด้วยทุ่งหญ้าและผืนป่าบนที่ราบสูงและเทือกเขาซึ่งเหมาะกับการทำปศุสัตว์

นอกจากนี้ภาคอีสานยังเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพสูง ทั้งข้าวหอมมะลิที่โด่งดังไปทั่วโลกและข้าวเหนียว อาหารอีสานส่วนใหญ่จะไม่ใช้อาหารทะเลเป็นวัตถุดิบเนื่องจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ไม่ติดกับทะเล หรือมหาสมุทร แต่เนื่องจากภูมิภาคนี้มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน โดยเฉพาะ แม่น้ำแม่โขง จึงมีปลาน้ำจืดจำนวนมากให้เลือกใช้เป็นวัตถุดิบในประกอบอาหาร

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคอีสานมีศักยภาพสูง ทั้งในแง่วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ด้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่น ตลอดจนเสน่ห์ของวิถีชาวบ้าน นอกจากการเดินทางตามรอยร้านอร่อยในภาคอีสานที่คู่มือมิชลิน ไกด์ คัดสรรมาให้แล้ว นักเดินทางทุกวัยยังสามารถเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวหลากรูปแบบ อาทิ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมาและได้รับเลือกเป็นหนึ่งในมรดกโลกทางธรรมชาติโดยองค์การยูเนสโกอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

นอกจากนี้ภาคอีสานยังมีสินค้าประเภทอาหารและหัตถกรรมที่โด่งดังมากมายสำหรับเลือกซื้อเป็นของขวัญของฝาก จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มากถึง 34 รายการ

สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคู่มือ “มิชลิน ไกด์” ได้ที่: guide.michelin.com/th/th หรือติดตามข่าวสารล่าสุดของ“มิชลิน ไกด์”ประเทศไทย ฉบับประจำปี 2566 ได้ทางเฟซบุ๊ค: facebook.com/MichelinGuideThailand

คลิปแนะนำอีจัน
ม่วนจัดหนัก! ระเบียบวาทะศิลป์ X มิสแกรนด์ไทยแลนด์