กราบขอพรเสริมสิริมงคล หลวงพ่อโต หลวงพ่อเพชร “วัดสิงห์” จ.ปทุมธานี

กราบพระทั้ง 4 ทิศ “วัดสิงห์” จ.ปทุมธานี ขอพรเสริมสิริมงคล วัดเก่าแก่กว่า 300 ปี

ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เข้าวัดกราบพระขอพร ที่ วัดสิงห์ วัดเก่าแก่กว่า 300 ปี จ.ปทุมธานี หนึ่งในวัดเก่าแก่ของเมืองปทุม ที่ อีจัน อยากแนะนำ

“วัดสิงห์” มีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี เป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสามโคก จ.ปทุมธานีมาช้านาน สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาปลายแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ งดงามด้วยสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยา เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี

ความโดดเด่นของวัดสิงห์ นอกจากความเก่าแก่แล้ว ยังมีพระให้กราบเพื่อความเป็นสิริมงคล ถึง 4 ทิศ ได้แก่

-ทิศตะวันออก กราบ “หลวงพ่อพุทธรัตนมุนี” พระประธานประจำทิศตะวันออก ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ

-ทิศตะวันตก กราบ “หลวงพ่อพุทธสิริมาแสน” พระประธานประจำทิศตะวันตก เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ สร้างจากศิลาทรายแดง ปางมารวิชัย บนฐานชุกชี และมีพระลำดับลดหลั่นลงมา ด้านหน้า 2 องค์ ด้านข้างมีพระอัครสาวกยืนพนมมือซ้ายขวา ประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อย

-ทิศเหนือ กราบ“หลวงพ่อโต” พระพุทธรูปก่อด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทองปางมารวิชัยประจำทิศเหนือ มีพุทธลักษณะที่งดงาม มีขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 5 ศอก ไรพระศกเล็กแบบหนามขนุน ด้านหลังองค์พระมีพนักพิงเป็นซุ้มเรือนแก้ว ก่อด้วยอิฐมีลวดลายปูนปั้นเป็นคิ้ว ขอบเป็นเขี้ยวตะขาบจรดปลายแหลม ด้านล่างทั้งสองข้างทำเป็นลายกนก ฐานชุกชีก่อด้วยอิฐฉาบปูนเป็นชั้นย่อมุมสิบสองลดหลั่นกันลงมา ประดับด้วยลายปั้นลายหน้ากระดานประจำยามก้ามปูปิดทองร่องกระจกสีเขียว มีพระอันดับลดหลั่นลงมา พร้อมด้วยด้านข้างมีพระอัครสาวกยืนพนมมือซ้ายขวา ประดิษฐานอยู่ในศาลาดิน

-ทิศใต้ กราบ “หลวงพ่อเพชร” พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ประจำทิศใต้ ประดิษฐานอยู่ด้านหลังหลวงพ่อโตในศาลาดิน ซึ่งมีซุ้มเรือนแก้วคั่น องค์พระมีขนาดยาว 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว อยู่บนฐานชุกชี ด้านหน้าองค์หลวงพ่อเพชรมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานบนฐานชุกชีสององค์ ส่วนฉากด้านหลังซุ้มเรือนแก้วปรากฎภาพจิตรกรรมฝาผนังศิลปสมัยอยุธยา วาดเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ แต่รายละเอียดของภาพถูกน้ำฝนชะล้างไปจนเลือนราง ซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมที่เก่าที่สุดในจังหวัดปทุมธานีที่ยังคงหลงเหลืออยู่ปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมี เขตโบราณสถาน “โกศพญากราย” ตั้งอยู่บริเวณหน้าวิหารน้อย บรรจุอัฐิพระเถระมอญ คือ หลวงพ่อพระยากราย (พระไตรสรณธัช) อดีตเจ้าอาวาสวัดสิงห์ พระยศเดิมของท่าน คือ พญากราย มีเชื้อสายของราชวงศ์มอญ

ลักษณะของโกศมีขนาดใหญ่ สร้างตามรูปแบบศิลปะมอญผสมไทย ก่อด้วยอิฐฉาบปูนรูปแบบโกศโถทรงกระบอกกลมปากผาย ฝายอดปริกปูนปั้นประดับกระจกอย่างประณีตงดงาม ฐานเหลี่ยมย่อมุมตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นประดับด้วยลายบัวแวง ลายหน้ากระดานประจำยามก้ามปู ส่วนตัวโกศประดับด้วยลายปูนปั้นลายกาบพรหมศรและกาบประจังโดยรอบตัวโกศ ส่วนย่อประดับด้วยบัวกลุ่ม 12 ชั้น บัวจงกลปลียอดและหยาดน้ำค้าง โดดเด่นด้วยรูปทรงที่ได้สัดส่วน ฝีมือปั้นปูนสดที่หาดูยาก โกศหลวงพ่อพระยากรายตั้งอยู่บริเวณหน้าวิหารน้อย ภายในกำแพงแก้ว เขตโบราณสถานของวัดสิงห์

-เกร็ดข้อมูลเสริมเมืองปทุม-

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสร็จประพาสเมืองสามโคก เมื่อ พ.ศ.2358 ในเทศกาลออกพรรษาเดือน 11 ซึ่งตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม 2538 เป็นฤดูบัวออกดอบานสะพรั่ง ชาวมอญได้นำดอกบัวมาทูลเกล้าถวายแด่พระองค์ทุกวัน พระองค์ทรงพระราชทานนามเมืองสามโคกให้เป็นสิริมงคลใหม่ว่า “ประทุมธานี” และได้ถวายแท่นบรรทมแด่พญากราย เจ้าอาวาสวัดสิงห์ในสมัยนั้น

ใครอยากไปเที่ยวและกราบพระขอพร ที่ “วัดสิงห์” เปิดแมพปักหมุดตามนี้นะคะ

วัดสิงห์ ตั้งอยู่เลขที่ 14 หมู่ที่ 2 ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี 12160 สังกัดมหานิกาย ประเภทวัดราษฎร์ ได้รับวิสุงคามสีมา ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2210 เขตโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรจำนวน 3 ไร่ 34 ตารางวา