ลงเกาะพยาม ดูวิธีการคั่วเม็ด “กาหยู” หรือ “มะม่วงหิมพานต์” แบบดั้งเดิม

เกาะพยาม จ.ระนอง ไม่ได้มีดีแค่รีสอร์ท อีจันลงไปดูวิธีการคั่วเม็ด “กาหยู” หรือ “มะม่วงหิมพานต์” แบบดั้งเดิม วิสาหกิจชุมชน ของคนบนเกาะ

ใครรู้จัก “กาหยู” บ้างยกมือขึ้นนนนนเชื่อว่าถ้าเป็นคนใต้ ต้องรู้จักแน่ๆ แต่ถ้าเป็นเราๆ หรือคนภาคอื่นๆ พอบอก “กาหยู” คงไม่รู้จัก ^^

กาหยู ก็คือ มะม่วงหิมพานต์ นั่นเองค่ะ

ทีมอีจัน มีโอกาสกลับมาเยือนเมืองฝนแปดแดดสี่ อย่าง จ.ระนอง อีกครั้ง ครั้งนี้นอกจากการมาแบ่งปันความสุขมอบของขวัญให้น้องๆ เนื่องในวันเด็กที่ เกาะสินไห แล้ว เราก็เลยได้แวะไปเยี่ยมชมวิถีชุมชน วิสาหกิจชุมชนด้วย ที่เกาะพยาม

เข้าเรื่องกาหยูกันดีกว่า อย่างที่บอกค่ะ กาหยู ก็คือ เม็ดมะม่วงหิมะพานต์ โดยที่เกาะพยามเป็นเกาะที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศ มีสัตว์ต่างๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น นกเงือก นกอินทรีย์ นอกจากนี้ ที่เกาะพยามยังมีพืชอัตลักษณ์ที่ปลูกกันมากบนค่ะ นั่นก็คือ มะม่วงหิมพานต์ ซึ่งชาวบ้านบนเกาะจะเรียกว่า กาหยู

เมื่อปลูกต้นกาหยู พอต้นกาหยูออกใบออกผล ก็มีการต่อยอดเป็นภูมิปัญญานั่นคือการคั่วเม็ดกาหยูแบบโบราณ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่อยู่คู่ชุมชนมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันก็มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนเกาะพยาม

ขอบอกว่า การจะคั่วเม็ดกาหยูไม่ใช่ทำกันง่ายๆ นะคะ ต้องมีฝีมือ มีความชำนาญ คั่วเสร็จต้องมากระเทาะเปลือกอีก เราได้ดูวิธีการกระเทาะเปลือกเม็ดกาหยูที่ถูกคั่วแล้ว งานนี้เลยส่งตัวแทนหมู่บ้านอีจัน นั่นคือ นาตาเลียเพลียแคม เจ้าของมงกุฎนางสาวเชียงใหม่ในดวงใจ ปี 2566 ให้มาลองคั่วเม็ดกาหยูแบบโบราณกัน

ซึ่งวิธีการคั่วเม็ดกาหยูแบบโบราณ เริ่มต้นด้วยก่อไฟด้วยเศษไม้หรือทางมะพร้าว แล้วเอาเม็ดกาหยูที่ได้ใส่ลงไปในกระบะสแตนเลสที่อยู่บนเตา ใส่เม็ดกาหยูลงไปพอประมาณนะคะ ต้องคั่วจนไฟลุกในเปลือก ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องระวังนะคะ เพราะเม็ดกาหยูจะมีน้ำมันสูงจึงทำให้ติดไฟง่าย ใช้ไม้คนไปเรื่อยๆ ประมาณ 5 – 6 นาที จะมีน้ำมันออกจากเม็ดกาหยู หลังจากนั้นไฟจะลามลุกไหม้เผาเม็ดกาหยูในกระบะ

น้ำมันจากเม็ดกาหยูที่โดนไฟร้อนๆ จะแตกปะทุออกมาเคลือบเมล็ดเอาไว้ จากนั้นคนต่อไปอีก 1-2 นาที ให้คว่ำกระบะลงพื้น แล้วใช้กิ่งไม้ตีไฟจนดับสนิททิ้งไว้จนเย็น แล้วจึงนำเม็ดกาหยูไปกะเทาะเปลือกที่คั่วออก ก็จะได้เมล็ดที่ล่อนจากเปลือก

จากนั้นก็นำเม็ดกาหยูที่กะเทาะเปลือกแล้วเข้าไปอบที่อุณหภูมิ 200 – 300 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 93 – 149 องศาเซลเซียส) นาน 20 นาที แล้วยกลงจากเตาอบแล้วทิ้งไว้ให้เย็น ก็จะได้เม็ดกาหยูหอมกรุ่น รสชาติหวานมัน พร้อมบรรจุถุงเพื่อจำหน่ายแล้วค่ะ

ขอบอกว่า คุณพี่นาตาเลียเพลียแคม ตัวแทนบ้านอีจัน ใจสู้มากกกกก คั่วจนไฟลุกโชนเลยค่ะ 5555 แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดีนะ

ขั้นตอนนี้ทำให้รู้เลยว่า กว่าจะมาเป็นมะม่วงหิมพานต์ที่เรากินกันอร่อยๆ เนี่ยยยยยย ยากมากกก ใครที่เคยบอกว่ามะม่วงหิมพานต์แพง ถ้ารู้สตอรี่การทำจะรู้เลยว่า เนี่ยมันไม่แพงเลยยยย

กาหยูถือเป็นของดีของเกาะพยามเลยค่ะ ใครมาเที่ยวเกาะพยามก็อุดหนุนกาหยูกลับไปด้วยนะ

คลิปอีจัน แนะนำ