ภูเขาไฟอินโดนีเซีย ปะทุซ้ำ ทางการสั่งอพยพ 2,000 ชีวิต ด่วน!

ทางการอินโดนีเซีย สั่งอพยพชาวบ้านกว่า 2,000 ชีวิต ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว หนีภูเขาไฟ เลโวโตบิ ลากิ-ลากิ ปะทุซ้ำ

ท่ามกลางภูเขาไฟ ทางตะวันออกของอินโดนีเซีย ที่ปะทุขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และพ่นเถ้าภูเขาไฟเป็นจำนวนมาก ทางการเร่งอพยพชาวบ้านกว่า 2,000 คน อย่างเร่งด่วนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรายงาน เมื่อวันที่ 2 ม.ค.67

โดย ภูเขาไฟ Lewotobi Laki-Laki (เลโวโตบิ ลากิ-ลากิ) ตั้งอยู่ในจังหวัดนูซาเต็งการาตะวันออกได้เกิดการปะทุอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการปะทุรุนแรงเมื่อวันที่ 1 ม.ค.67 ที่ผ่านมา พ่นเถ้าภูเขาไฟสูงถึง 1.5 กิโลเมตร ตามข้อมูลจากศูนย์ภูเขาไฟวิทยาและการบรรเทาอันตรายทางธรณีวิทยา

การปะทุล่าสุดจาก Lewotobi Laki-Laki เมื่อวันที่ 2 ม.ค.67 แต่ไม่มีรายงานเกี่ยวกับการพ่นเถ้าถ่านจากภูเขาไฟ

การปะทุที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสองตำบลใกล้เคียง ทำให้ประชาชนกว่า 2,000 คนต้องอพยพอย่างเร่งด่วนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลท้องถิ่น Mr.Benediktus Bolibapa Herin จากเขต East Flores กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 2 ม.ค.67

ขอบคุณภาพจาก สำนักข่าวเดอะสเตรทไทมส์

Mr.Herin กล่าวว่า “มีผู้อพยพ 1,931 คน ใน Wulanggitang และผู้อพยพ 328 คนใน Ile Bura” และเตือนว่า จำนวนผู้อพยพอาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากที่หลบหนีจากอันตรายของภูเขาไฟ

เมื่อวันที่ 1 ม.ค.67 ทางการอินโดนีเซียได้ยกระดับสถานะภูเขาไฟเป็นระดับที่สองของระดับการแจ้งเตือนสี่ระดับ และขยายเขตห้ามเข้าไปจาก 2 กิโลเมตร เป็น 4 กิโลเมตร รอบปล่องภูเขาไฟ ภายใต้ความกังวลเรื่องความปลอดภัย สนามบินฟรานส์เซดา ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 80 กิโลเมตร ได้ถูกปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 เนื่องจากเถ้าถ่านจากการปะทุของภูเขาไฟ ตามรายงานของสำนักข่าวอันตารา

ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟแปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภูเขาไฟและแผ่นดินไหว ประเทศนี้มีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่เกือบ 130 ลูก ซึ่งทำให้ประชาชนต้องอยู่ภายใต้ความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

ในเดือน ธ.ค.66 ที่ผ่านมา ภูเขามาราปี ซึ่งแปลว่า “ภูเขาแห่งไฟ” บนเกาะสุมาตราได้ปะทุขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 23 คน การปะทุของภูเขาไฟครั้งนี้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ย้ำเตือนถึงความเปราะบางของภูมิประเทศและความจำเป็นในการเตรียมพร้อมและการตอบสนองต่อภัยธรรมชาติอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพของประเทศอินโดนีเซีย

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวเดอะสเตรทไทมส์ และสำนักข่าวเอเอฟพี