ครั้งแรกของโลก รพ.หัวซาน จีนฯ ทดลอง “ฉีดแอนติบอดีสกัดโควิด-19 ในคน”

ซินหัวฯ รายงาน รพ.หัวซาน จีนฯ ทดลองฉีด “เจเอส016 (JS016)” แอนติบอดีสกัดโควิด-19 ในคนครั้งแรกของโลก

การแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 ทั่วโลก ยังคงมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน แน่นอนว่าผู้คนทั่วโลกต่างกำลังรอวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยที่ผ่านมามีการทดลองในวัคซีนในห้องแล็บในหลายประเทศ แต่ถึงอย่างไร ณ ตอนนี้ยังไม่มีรายงานว่า “มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้” ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนทดสอบประสิทธิภาพอยู่

ภาพจากอีจัน
ล่าสุดวันนี้ (8 มิ.ย. 63) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า โรงพยาบาลหัวซาน ของมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ในนครเซี่ยงไฮ้ของจีน ดำเนินการฉีด “เจเอส016 (JS016)” ซึ่งเป็นโมโนโคลนอล แอนติบอดี (monoclonal antibody) ชนิดดีแบบสายผสมจากมนุษย์ทั้งหมด แก่ผู้รับการทดลองคนแรก คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า นี่เป็นการทดลองทางคลินิกครั้งแรกของโลก ที่ฉีดแอนติบอดีชนิดดี (NAb) เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผู้มีสุขภาพแข็งแรง หลังทำการทดลองกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเสร็จสิ้นก่อนหน้านี้ โดยการทดลองครั้งนี้ นำโดยจางจิ้ง รองผู้อำนวยการสถาบันยาปฏิชีวนะ และจางเหวินหง หัวหน้าศูนย์โรคติดต่อของโรงพยาบาลหัวซาน โดยจางเหวินหง คาดว่า การรักษาด้วยแอนติบอดีชนิดดี จะเป็นตัวเลือกแรกในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 เนื่องจากสามารถพุ่งเป้าไปยังไวรัสโคโรนา และยับยั้งการจำลองตัวของไวรัสได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้ “แอนติบอดี” นี้เป็นการร่วมพัฒนาโดยบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ จวินสือ ไบโอไซเอนซ์ (Junshi Biosciences) สถาบันจุลชีววิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน และอื่น ๆ เข้าสู่การทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 หลังได้รับการอนุมัติจากสำนักงานบริหารเวชภัณฑ์แห่งชาติจีน โดยเป็นการทดลองแบบสุ่ม แบบอำพรางสองฝ่าย และแบบควบคุมด้วยยาหลอก มีเป้าหมายประเมินความต้านทานความปลอดภัย ลักษณะทางเภสัชจลนศาสตร์ และการตอบสนองภูมิคุ้มกันของแอนติบอดีเจเอส 016 ในหมู่ประชากรจีน เพื่อเป็นฐานสู่การทดลองแอนติบอดีในอนาคต เฟิงฮุ้ย หัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของจวินสือฯ ระบุว่า เจเอส016 สามารถยับยั้งการยึดเกาะของไวรัสต่างๆ บนพื้นผิวตัวรับเอซีอี2 (ACE2) ของเซลล์เหยื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีความจำเพาะต่อตัวรับ (RBD) บนสไปก์โปรตีนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่