จีน พัฒนาระบบ จดจำใบหน้า เพื่ออนุรักษ์ ลิงจมูกเชิดสีทอง

คณะนักวิทยาศาสตร์ จีน พัฒนาระบบ จดจำใบหน้า เพื่ออนุรักษ์ ลิงจมูกเชิดสีทอง สัตว์ป่าคุ้มครองระดับสูงสุดของประเทศ ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในเทือกเขาฉินหลิ่ง

คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีน กำลังพัฒนาเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าสำหรับ “ลิงจมูกเชิดสีทอง” สัตว์ป่าคุ้มครองระดับสูงสุดของประเทศ ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในเทือกเขาฉินหลิ่ง

โดยทีมนักวิจัย ประกอบด้วยคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยตะวันตกเฉียงเหนือในนครซีอัน เมืองเอกของมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นทีมวิจัยที่ศึกษาลิงจมูกเชิดสีทองในป่าอย่างเป็นระบบครั้งแรกของประเทศ

ทั้งนี้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าลิง เน้นการสร้างฐานข้อมูลอัตลักษณ์ของลิงจมูกเชิดสีทอง ในพื้นที่เทือกเขาฉินหลิ่ง ด้วยการจำแนกลักษณะใบหน้า โดยอยู่ระหว่างการทดลองและพัฒนา ซึ่งสามารถจดจำใบหน้าลิงชนิดนี้ ได้แล้วกว่า 200 ตัว

ซึ่งก่อนหน้านี้ นักวิจัยต้องถ่ายรูปลิงตัวเดียว มากถึง 700-800 รูป เพื่อการศึกษา ขณะที่อัตราจดจำใบหน้ามีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 94 ซึ่งหลังจากพัฒนาเสร็จสมบูรณ์จะสามารถติดตั้งในกล้องอินฟราเรด และตรวจจับลิงจมูกเชิดสีทองในป่าได้โดยอัตโนมัติ รวมถึงตั้งชื่อและเก็บข้อมูลพฤติกรรมของลิงแต่ละตัวได้อีกด้วย

แต่อุปสรรคหลักของการจดจำใบหน้าลิง คือ ลิงมีขนมากกว่ามนุษย์ และมีความแตกต่างของลักษณะใบหน้า จึงจำเป็นต้องใช้งานระบบที่มีศักยภาพเรียนรู้เชิงลึกที่สูงขึ้น

เทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่การศึกษาลิงจมูกเชิดสีทอง วัยเจริญพันธุ์ เนื่องจากเดิมทีนักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลา 1-2 ปี เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมเชิงลึกของลิงเหล่านี้โดยเฉพาะ

“หากเทคโนโลยีจดจำใบหน้าลิงถูกนำไปใช้งานแล้ว การวิจัยเบื้องต้นในเรื่องตำแหน่งที่อยู่อาศัย อัตลักษณ์ และการสังเกตพฤติกรรม จะใช้เวลาน้อยลงอย่างมาก ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวิจัย”
หลี่เป่ากั๋ว ผู้นำทีมวิจัย

สำหรับเทือกเขาฉินหลิ่ง มีลิงจมูกเชิดสีทองอาศัยอยู่ราว 4,000 ตัว โดยมักอาศัยอยู่ในป่าที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,500-3,000 เมตร นอกจากนั้นเทือกเขาฉินหลิ่ง ยังเป็นบ้านของพืชพันธุ์และสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ แพนด้ายักษ์และนกช้อนหอยหงอน