วิทยุทรานซิสเตอร์ ของคุ้นเคยคนไทย

รู้ไหมคนไทยรู้จักกับคำว่า วิทยุทรานซิสเตอร์ มานานกว่า 68 ปี และวันนี้คำนี้ก็กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง

แม้ยุคนี้จะเป็นยุค 4จี 5จี และอินเทอร์เน็ตทำให้การเชื่อมต่อโลกง่ายขึ้น แต่! รู้ไหมว่าเมื่อพูดถึงคำว่า “วิทยุทรานซิสเตอร์” แทบทุกคนรู้จักและเข้าใจคำนี้ แม้วิธีการเข้าถึงวิทยุของแต่ละคนจะต่างกัน

เชื่อว่า…บางคนคุ้นเคยจนถึงขั้นเคยชินกับปู่ ย่า ตา ยาย ที่เอาไว้เปิดฟังตอนออกผลหวย!

ดังนั้น อีจัน ขอนำประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับ “วิทยุทรานซิสเตอร์” มาบอกกันพอสังเขปเพื่อเป็นความรู้ให้ผู้อ่านได้เห็นภาพวิวัฒนาการกัน

ประวัติความเป็นมา “วิทยุทรานซิสเตอร์”

จุดกำเนิดของวิทยุเริ่มต้นขึ้นเมื่อ เจมส์ คล้าค แมกซ์ เวลล์ (James Clerk Maxwell) ชาวสกอตแลนด์ ค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในปี 2407 ต่อมาอีก 22 ปี คือในปี 2429 รูดอล์ฟ ไฮน์ริช เฮิรตซ์ (Rudolph Heinrich Hertz) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน จึงคิดผลิตเครื่องที่เอาคลื่นไฟฟ้าในอากาศของแมกซ์เวลล์มาใช้ประโยชน์ได้ โดยตั้งชื่อสิ่งที่ค้นพบนี้ว่า Hertzain Waves และต่อมาการเรียกคลื่นวิทยุก็ใช้ชื่อ “เฮิรตซ์” เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ

ในปี 2438 กูกลิเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) ชาวอิตาเลียน ได้นำเอาทฤษฎีของเฮิรตซ์มาทดลองถ่ายทอดกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งสัญญาณ เครื่องมือทดลองในเบื้องต้นมีเพียงแบตเตอรี่ ลวดทองแดง แผ่นทองแดง และว่าว โดยมาร์โคนีนั่งเรือจากเกาะอังกฤษไปขึ้นบกที่นิวฟันด์แลนด์ แล้วเอาว่าวที่สายป่านเป็นลวดทองแดงชักขึ้นไปในอากาศ สายลวดทองแดงจึงเปรียบเสมือนสายอากาศนั่นเอง โดยทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังเครื่องรับ ซึ่งมาร์โคนีได้คิดค้นไว้แล้ว

ผลสำเร็จในครั้งนั้นมีเพียงเสียงครืด ๆ เท่านั้น แต่นั่นคือเสียงแห่งความสำเร็จ และเป็นเสียงแรกสำหรับชาวโลกจากเครื่องรับวิทยุ

จากนั้น 3 ปีต่อมา มาร์โคนีก็สร้างสถานีวิทยุกระจายเสียงออกอากาศให้คนได้ฟังเมื่อต้นปี 2441 แม้จะเป็นการออกอากาศได้ในระยะไม่ไกลนัก ซึ่งหนังสือพิมพ์ Daily Express ในลอนดอน ได้ซื้อเครื่องรับส่งของมาร์โคนีเพื่อการทำข่าวไว้ 1 ชุด จากนั้นมาร์โคนีก็ได้ปรับปรุงเครื่องส่งวิทยุเรื่อยมาจนประสบความสำเร็จในการส่งวิทยุกระจายเสียงข้ามช่องแคบอังกฤษได้ในวันที่ 7 มีนาคม 2442 อีกหนึ่งปีต่อมามาร์โคนีก็เพิ่มประสิทธิภาพให้เครื่องส่งสามารถส่งกระจายเสียงข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้สำเร็จ

ดังนั้น เครื่องรับวิทยุสมัยแรกจึงเป็นวิทยุแร่ ผู้ฟังต้องใช้เครื่องฟังครอบหู เพราะเครื่องรับในขณะนั้นทั้งไม่ชัดเจน และเสียงเบามาก ผู้แก้ปัญหานี้คือ จอห์น แอมโบรส เฟลมมิง (John Ambrose Fleming) ได้นำเอาหลอดไฟฟ้าของโธมัส เอดิสัน มาใช้เป็นหลอดวิทยุแทนแร่ ผลงานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จในปี 2447 ทำให้วิทยุกระจายเสียงส่งคลื่นได้ไกล และรับฟังได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ส่วนประเทศไทยวิทยุกระจายเสียง ถือกำเนิดขึ้นระยะแรก ราวปี พ.ศ. 2470-2472 โดยพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งทรงริเริ่มทดลองส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรก และทำให้ประเทศไทยมีการใช้งานวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ

สู่ปฐมบทแห่งยุควิทยุทรานซิสเตอร์

ปี 2497 “เบลแล็ป” ได้คิดค้นสิ่งที่เรียกว่า “ทรานซิสเตอร์” ได้สำเร็จ โดยตัวทรานซิสเตอร์เปรียบเสมือนวาล์วควบคุมกระแสไฟฟ้าเข้าออก และเปิด-ปิด และมีการพัฒนาจนมีขนาดเล็กนำไปบรรจุลงในวิทยุได้ และสามารถพกพาไปฟังได้ทุกที่ ที่สุดมีการตั้งชื่อวิทยุรุ่นนี้ว่า “วิทยุทรานซิสเตอร์” แต่ภายหลังเรียกไปเรียกมา ตัดทอนลงมาเหลือแค่ “ทรานซิสเตอร์”

นี่คือที่มาและจุดกำเนิดของ วิทยุทรานซิสเตอร์! ถ้านับตั้งแต่วิทยุพกพาได้จนถึงวันนี้คือ 68 ปี

จากปี 2497 ถึงปี 2565 วันนี้คนไทยยังฟังวิทยุ!

ตัวเลขผลสำรวจพฤติกรรมการรับฟังรายการวิทยุทั่วประเทศ ในช่วงปี 2565 จากจำนวนผู้ฟัง 3,655 คน อ้างอิงจากสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. และสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า…

อุปกรณ์หลักในการรับฟังวิทยุ จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 68.9 ของกลุ่ม ผู้ฟังวิทยุยังนิยมรับฟังจากเครื่องรับวิทยุ ทั้งจากวิทยุในบ้าน วิทยุพกพา หรือวิทยุในรถยนต์ รองลงมาร้อยละ 19.3 รับฟังจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทั้ง 3G 4G และ wifi ตามมาด้วย ร้อยละ 7.8 เป็นการรับฟังจากวิทยุที่อยู่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ และแท็บเล็ต และน้อยที่สุด ร้อยละ 0.3 เป็นการรับฟังผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน๊ตบุ๊ก แล็ปท็อป และคอมพิวเตอร์พกพา

นอกจากนี้ อ้างอิงข้อมูลของ บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ระบุถึงพฤติกรรมการรับฟังวิทยุ ปี 2022 จำนวนผู้ฟังวิทยุรายเดือน แยกตามช่วงอายุ Generation โดยข้อมูลล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2565 พบว่า…

ผู้ฟังกลุ่ม Gen X อายุ 40-59 ปี เป็นกลุ่มที่ฟังวิทยุมากที่สุดถึงกว่า 3.5 ล้านคน รองลงมาคือ ผู้ฟังกลุ่ม Gen Y อายุ 20- 29 ปี ฟังวิทยุกว่า 3.3 ล้านคน ขณะที่ผู้ฟังกลุ่ม Baby Boomer อายุ 60-71 ปี ฟังวิทยุสูงเกือบ 2 ล้านคน และผู้ฟังกลุ่ม Gen Z อายุ 12-19 ปี ก็มีการฟังวิทยุถึงกว่า 8 แสนคน ซึ่งตัวเลขข้อมูลดังกล่าวนี้สามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ช่องทางการสื่อสารผ่านวิทยุเป็นช่องทางที่ยังได้รับความนิยมและเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มวัย

ว่าแต่ถ้า “วิทยุทรานซิสเตอร์” หมายถึง วิทยุแบบพกพาแล้วใส่ถ่าน อาจมีจำนวนคนใช้งานไม่มากนัก แต่ถ้า “วิทยุทรานซิสเตอร์” หมายถึงอุปกรณ์ทุกประเภทชนิดที่ทำให้เข้าถึงข้อมูลจากสื่อทางวิทยุก็เป็นไปตามรายงานนะคะ

อ้างอิงข้อมูล :

https://www.silpa-mag.com/history/article_93421

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/60018

คลิปแนะนำอีจัน
เร่งช่วย 2 ผู้ป่วยฉุกเฉิน ติดเกาะน้ำท่วม #น้ำท่วมศรีสะเกษ