‘ดีอีเอส’ แนะวิธีรับมือ หากโดนสวมรอยใช้รูปบนโซเชียล จัดการอย่างไรดี

กระทรวงดีอีเอส เปิด 3 วิธีรับมือ หากโดนสวมรอยใช้รูปบนโซเชียล โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้กระทำความผิด โทษหนักคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

การนำรูปดาราคนดัง หรือรูปคนหน้าตาดีๆ มาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต พบเห็นได้อย่างแพร่หลาย และกลายเป็นปัญหาสำคัญในสังคมออนไลน์ที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะไม่ว่าจะเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่มักถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น สร้างความเสียหายแก่ผู้เป็นเจ้าของข้อมูล หรือสร้างบัญชีโซเชียลปลอมเพื่อหาเพื่อนคุย หรือหลอกให้เสียทรัพย์ ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ทั้งนี้ หากเราโดนสวมรอยใช้รูปในโซเชียล ถูกบุคคลอื่นนำรูปไปแอบอ้างในเฟซบุ๊ก หรือช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แนะนำให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1.แจ้งรายงานไปที่แพลตฟอร์มโซเชียล โดยการรายงาน (Report) ไปยังเว็บไซต์ผู้ให้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ที่ถูกแอบอ้าง ซึ่งทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ และอินสตาแกรม (IG) มีเมนูให้รายงานบัญชีปลอมโดยตรงอยู่แล้ว จากนั้นรอขั้นตอนการตรวจสอบของทางแพลตฟอร์ม

2.ช่องทางของกระทรวงดีอีเอส ที่สายด่วน โทร.1212 OCC ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า (ETDA) ในสังกัดดีอีเอส + ช่องทางอื่นๆ ภายใต้การดูแลของกระทรวงฯ

3.แจ้งตำรวจ ทั้งการไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) โดยให้รวบรวมหลักฐานไว้ เช่น Capture จับภาพหน้าจอสนทนา หรือหน้ารูป Proflie ที่ถูกปลอมขึ้นมา

หลังจากนั้น ให้รอทางแพลตฟอร์มโซเชียลดำเนินการ หากช้าให้ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กช่วยกันรายงานบุคคลดังกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ‘สำนักงานกิจการยุติธรรม’ ระบุถึงกฎหมายเกี่ยวกับการแอบอ้างใช้รูปคนอื่น ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์)

• มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือ ได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ทำอย่างไรหากถูกใช้รูปสร้างเฟซบุ๊กปลอม?

1.แจ้งความลงบันทึกประจำวัน ที่สถานีตำรวจท้องที่ที่อาศัยอยู่ โดยแจ้งชื่อเฟซบุ๊ก-ไลน์ปลอม รวมถึงแจ้งชื่อลิงก์เฟซบุ๊กจริงของเราไว้ด้วย หากมีคนนำชื่อเราไปแอบอ้าง ก็ยังมีหลักฐานที่ได้ลงบันทึกไว้แล้วว่าไม่ใช่ตัวเรา

2.พยายามติดต่อเจ้าของเฟซบุ๊กที่นำภาพหรือชื่อเราไปใช้ในช่องทางที่สามารถทำได้ เช่น แชต โทรศัพท์ หรือเพื่อนของเฟซบุ๊กนั้น

3.รายงานไปยังเฟซบุ๊กว่ามีผู้แอบอ้างใช้ชื่อเรา โดยทำตามขั้นตอนดังนี้

• ไปที่หน้าเฟซบุ๊กของคนที่แอบอ้างเป็นเรา → กดสัญลักษณ์จุดสามจุดที่อยู่หลังปุ่มข้อความ → รายงาน/บล็อก → ส่งรายงาน → รายงานบัญชีผู้ใช้ของ (ตรงนี้จะเป็นชื่อของเฟซบุ๊กที่อ้างว่าเป็นเรา) → ยืนยัน → ไทม์ไลน์นี้แอบอ้างว่าเป็นฉันหรือบุคคลที่ฉันรู้จัก → แอบอ้างว่าเป็นฉัน → ดำเนินการต่อ

ดังนั้น การถือวิสาสะใช้ภาพดาราคนดัง ตั้งโปรไฟล์โดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จะไม่ได้กระทำการหลอกลวงผู้อื่นให้โอนเงิน แต่แค่คุณคอมเมนต์ด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ ก็ถือว่าทำให้เจ้าของรูปเสียชื่อเสียง และอาจถูกมองในเชิงลบแล้ว นั่นก็เท่ากับว่าคุณเองมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แล้ว