เช็กด่วน! ปรับเพดานจ่ายสมทบ ผู้ประกันตน ม.33 รับประโยชน์เพิ่มเท่าไร

อัพเดต ปรับเพดานจ่ายเงินสมทบ ผู้ประกันตน มาตรา 33 รับประโยชน์เพิ่ม 6 เคส ‘ตกงาน เสียชีวิต ชราภาพ คลอดบุตร ทุพพลภาพ เจ็บป่วย’ ดูเลยได้เพิ่มเท่าไร

ตามที่กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้นำร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. … ของผู้ประกันตนมาตรา 33 อัตราใหม่ ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องครั้งที่ 1 ผ่านทางระบบกลางทางกฎหมาย (LAW.co.th) ช่วงวันที่ 1-28 ก.พ.66 สรุปมีผู้ร่วมเสนอความเห็นทั้งนายจ้าง และลูกจ้างรวม 55,584 คน โดยมีผู้เห็นด้วยคิดเป็น 27% และไม่เห็นด้วยคิดเป็น 73%

รีไฟแนนซ์บ้าน ม.33 กระแสแรง ประกันสังคม-ธอส. เปิดรับเพิ่มแล้ว

ทั้งนี้ การเปิดความคิดเห็นดังกล่าว เป็นขั้นตอนหลังจากแนวทางการปรับเพดานค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคมเมื่อกลางปี 2565

คณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาการกำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ของผู้ประกันตนมาตรา 33 อัตราใหม่ แบบค่อยเป็นค่อยไป หลังจากประเทศไทยไม่ได้ปรับมานานเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2538

ซึ่งเหตุผลและความจำเป็นของการปรับเพดานค่าจ้างขั้นสูง คือ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนในการรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานเพดานค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

  • ปรับเท่าไหร่-เมื่อไหร่

เงินสมทบมาตรา 33 คือที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนในอัตราร้อยละ 5 โดยผู้ที่มีค่าจ้างเดือนละ 1,650 บาทขึ้นไปต้องจ่ายในอัตรา 5% ของค่าจ้าง แต่มีเพดานคำนวนที่ค่าจ้าง 15,000 บาท ทั้งนี้ เพดานค่าจ้างที่ใช้ในการคำนวณจะถูกปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป 3 ระยะ ดังนี้

– ระยะที่ 1 ตั้งแต่ 1 ม.ค.67-31 ธ.ค.69 ปรับเป็นคำนวณจากเพดานค่าจ้าง 17,500 บาท จ่ายสมทบไม่เกิน 875 บาท

– ระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1 ม.ค.70-31 ธ.ค.72 ปรับเป็นคำนวณจากเพดานค่าจ้าง 20,000 บาท จ่ายสมทบไม่เกิน 1,000 บาท

– ระยะที่ 3 ตั้งแต่ 1 ม.ค.73 เป็นต้นไป ปรับเป็นคำนวณจากเพดานค่าจ้าง 23,000 บาท จ่ายสมทบไม่เกิน 1,150 บาท

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาท จะไม่ได้รับผลกระทบจ่ายเงินสมทบเพิ่ม เพราะจะได้จ่ายเงินสมทบ 5% ของค่าจ้างตามจริง โดยระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีค่าจ้าง 15,000 บาทขึ้นไป ประมาณ 37%

  • ผู้ประกันตนรับประโยชน์เพิ่ม 6 กรณี

นางนิยดา เสนีย์มโนมัย ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน และโฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เผยว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้รายงานผลความคิดเห็นต่อคณะกรรมการ สปส. เพื่อรับทราบแล้ว

“แต่มีข้อสังเกตว่า การที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับผลประโยชน์ตอบแทนที่จะได้รับเพิ่มขึ้นหลังจากการปรับเพดานค่าจ้าง”

ซึ่งการปรับเพดานเงินสมทบอัตราใหม่จะทำให้เกิดประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับผู้ประกันตน ดังนี้

  • เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงาน

ได้รับในอัตรา 50% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน ปัจจุบันได้รับที่ 7,500 บาทต่อเดือน อัตราใหม่ช่วงปี 2567-2569 จะเป็น 8,750 บาทต่อเดือน ช่วงปี 2570-2572 เป็น 10,000 บาทต่อเดือน และปี 2573 เป็น 11,500 บาทต่อเดือน

  • เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต

ได้รับในอัตรา 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน ปัจจุบันรับที่ 30,000 บาท อัตราใหม่ช่วงปี 2567-69 จะเป็น 35,000 บาท ช่วงปี 2570-72 เป็น 40,000 บาท และปี 2573 เป็น 46,000 บาท

  • เงินบำนาญชราภาพ

ได้รับในอัตราไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน โดยมี 2 อัตรา คือ

1.ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 15 ปี (ครบ 180 เดือน) จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

2. ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบเกิน 15 ปี (เกิน 180 เดือน) จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่จ่ายประกันสังคม+อัตราการจ่ายเงินบำนาญให้อีก 1.5% ต่อปีของระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ

ตัวอย่าง หากส่งเงินสมทบครบ 15 ปี เงินบำนาญชราภาพอัตราเดิมได้รับ 3,000 บาทต่อเดือน และหากส่งเงินสมทบครบ 25 ปี อัตราเดิมได้รับ 5,250 บาทต่อเดือน

อัตราใหม่ช่วงปี 2567-69 ส่งเงินสมทบครบ 15 ปี ได้รับ 3,500 บาทต่อเดือน และส่งเงินสมทบครบ 25 ปี ได้รับ 6,125 บาทต่อเดือน

ช่วงปี 2570-72 ส่งเงินสมทบครบ 15 ปี ได้รับ 4,000 บาทต่อเดือน และส่งเงินสมทบครบ 25 ปี ได้รับ 7,000 บาทต่อเดือน

ช่วงปี 2573 ทำงาน ส่งเงินสมทบครบ 15 ปี ได้รับ 4,600 บาทต่อเดือน และส่งเงินสมทบครบ 25 ปี ได้รับ 8,050 บาทต่อเดือน

  • เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร

ได้รับในอัตรา 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน ปัจจุบันรับที่ 22,500 บาทต่อครั้ง อัตราใหม่ช่วงปี 2567-69 จะเป็น 26,250 บาทต่อครั้ง, ช่วงปี 2570-72 เป็น 30,000 บาทต่อครั้ง และปี 2573 เป็น 34,500 บาทต่อครั้ง

  • เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ

ได้รับในอัตรา 70% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน ปัจจุบันรับที่ 7,500 บาทต่อเดือน อัตราใหม่ช่วงปี 2567-69 จะเป็น 8,750 บาทต่อเดือน ช่วงปี 2570-72 เป็น 10,000 บาทต่อเดือน และปี 2573 เป็น 11,500 บาทต่อเดือน

  • เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย

ได้รับในอัตรา 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน ปัจจุบันรับที่ 250 บาทต่อวัน อัตราใหม่ช่วงปี 2567-69 จะเป็น 292 บาทต่อวัน, ช่วงปี 2570-72 จะเป็น 333 บาทต่อวัน และปี 2573 เป็น 383 บาทต่อวัน

เช็กสิทธิ ผู้ประกันตน ม.40 ตายแล้วได้อะไรบ้าง