วัยรุ่นรอเก้อ! รัฐเลื่อน “แจกหมื่น เฟส 3” หวั่นคลังถังแตก

หมื่นนี้ยังไม่มา! วัยรุ่นรอเก้อ รัฐเบรกแจกหมื่น เฟส 3 รุ่นอายุ 16-20ปี หวั่นคลังถังแตก นายกฯ เผย รอทุกหน่วยไฟเขียว

(วันนี้ 6 พ.ค.68) ความหวังของคนรุ่นใหม่หลายล้านคนที่รอเงิน “แจกหมื่น เฟส 3” ต้องสะดุดอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลประกาศชะลอโครงการ “ดิจิทัลวอเล็ต เฟส 3” โดยอ้างว่ายัง ไม่ได้รับไฟเขียวจากหน่วยงานสำคัญ และยัง ไม่พร้อมทางงบประมาณ ท่ามกลางแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ภายในประเทศ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่มีการนำเรื่อง “ดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3” เข้าสู่การพิจารณา เนื่องจากยังรอความเห็นเรื่องดังกล่าวจากหลายๆหน่วยงาน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นต้น เนื่องจากมาตรการดังกล่าว เน้นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากปัจจุบันเกิดปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การขึ้นภาษีของสหรัฐฯที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จึงจำเป็นต้องรอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ให้ครบถ้วนก่อน

“ปัจจัยสำคัญแทรกเข้ามาในเรื่องของภาษีสหรัฐฯ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยแต่กระทบกับทั้งโลก จึงต้องมีการหารือสถานการณ์ต่างๆ ให้รอบคอบก่อน เนื่องจากเป็นมาตราการที่เกี่ยวข้องกับกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ รัฐบาลยังไม่ได้บอกยกเลิกโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3” เพียงแต่รอความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด ส่วนจะเลื่อน หรือไม่เลื่อนต้องรอข้อมูลความคิดเห็นให้ครบถ้วนก่อน ดังนั้น การเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนต้องมีคำอธิบาย

ทั้งนี้ โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3” กระทรวงการคลังมีเป้าหมายแจกเงิน 10,000 บาทให้แก่ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 20 ปีจำนวน 2.7 ล้านคน โดยจะใช้เงินจากงบประมาณปี2568 จำนวน 27,000 ล้านบาท และคาดว่า จะสามารถส่งถึงมือประชาชนได้ภายในไตรมาส 2 หรือประมาณเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า ก่อนหน้านี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง สั่งให้ชะลอหรือบททวนโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3” ออกไปก่อน เนื่องจากงบประมาณของรัฐบาลอยู่อย่างจำกัด ความจำเป็นในการใช้เงินเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติ เช่น น้ำแล้ง น้ำท่วมรวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวและผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้กระทรวงการคลังต้องกักเงินเพื่อตุนไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ซึ่งล่าสุด รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะต้องใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 500,000 ล้านบาท เพื่อดันการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ ให้ขยายตัว 3%