จับตา! วิปรัฐบาล ถอน “เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์” ชี้ชะตา 7 ก.ค.นี้

“จุลพันธ์” เล็งเลื่อน-ถอน “พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์” จับตาวิปรัฐบาลชี้ชะตา 7 ก.ค.นี้ แย้มเปิดทางครม. ชุดใหม่ตัดสินใจ ลดแรงต้านสังคม

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า  ขณะนี้วิปรัฐบาลอยู่ระหว่างหารือกันอย่างจริงจังว่าจะ “เลื่อน หรือ ถอน” ร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) คาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์นี้  เนื่องจากวิปรัฐบาลจะมีการประชุมในวันนี้ (7 ก.ค. 2568) เพื่อสรุปอีกครั้ง 

สำหรับสาเหตุหลักในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เนื่องจากต้องการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ (ประมาณ 14-15 คน) มีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องนี้ เพราะเป็นกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อนและสำคัญ ซึ่งมีการอนุมัติโดยครม.ชุดเดิม และเพื่อลดความขัดแย้งของสังคมในประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันอยู่

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ขั้นตอนหากมีการถอนร่างพ.ร.บ.นั้น จะเสนอกลับมาที่ครม. พิจารณาถอดถอน และเมื่อครม.เห็นว่าสมควรเดินหน้าเมื่อใด ก็จะส่งกลับไปที่สภา แต่หากมีการเลื่อนนั้น เป็นเรื่องของสภาที่จะวินิจฉัย และสมาชิกเป็นผู้เสนอ โดยจะเข้าเป็นเรื่องแรกในการประชุมสภา ในวันที่ 9 ก.ค. 2568 และไปพิจารณาในวาระต่อไป เช่น ไปหารือกันต่อใน 2-3 เดือนข้างหน้า เป็นต้น

“การตัดสินใจเลื่อนหรือถอน ต้องใช้เสียงจากส.ส.เท่ากัน ฉะนั้น เราต้องมั่นใจเสียงของเรา หากเสียงไม่เกินครึ่ง แค่เลื่อนหรือถอนก็ทำไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม เรามั่นใจในเสียง หากเกิดอุบัติเหตุไม่พอก็พิจารณา ว่ากันไปตามกลไก” นายจุลพันธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามหากเกิดการลงมติแล้ว ฝ่ายค้านตลบหลัง เพื่อเดินหน้าให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา เพื่อหวังจะตีตกร่างกฎหมายนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น แต่ฝ่ายค้าน ก็เป็นผู้เสนอรัฐบาลเองว่า ให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายดังกล่าว และหากฝ่ายค้านจะดำเนินการเช่นนั้น รัฐบาลก็จะต้องมีความมั่นใจในการพิจารณาอยู่แล้ว ดังนั้น รัฐบาลยังมั่นใจในเสียง หากจะมีมติให้เลื่อน หรือถอนร่างกฎหมาย และมั่นใจในเสียงหากต้องเกิดอุบัติเหตุที่สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณา ซึ่งรัฐบาลก็มั่นใจ และพร้อมชี้แจงถึงความจำเป็นในการเดินหน้านโยบายดังกล่าว

นายจุลพันธ์  กล่าวต่อไปว่า ประเมินว่าการชะลอโครงการ Entertainment Complex จะมีผลกระทบต่อนักลงทุนที่เตรียมตัวไว้ ทำให้เกิดความล่าช้าในการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะนำเม็ดเงินมหาศาลเข้าประเทศ และเปรียบเทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ล่าช้าในอดีต นั่นคือ ต้นทุนของคนไทยที่เสียไป ก็คือเวลา โดยนักลงทุนที่แสดงความสนใจเข้ามาหารือกับเรานั้น มองว่าเม็ดเงินดึงดูดการลงทุนจะสูงถึง 2 แสนล้านบาท มากกว่าที่เราประมาณการไว้ที่ 1 แสนล้านบาท