
วันนี้ (9 ก.ค.68) นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีสหรัฐฯ ประกาศนโยบายเก็บภาษีหลายประเทศทั่วโลก (Reciprocal Tariff) โดยไทยอาจถูกเก็บภาษีที่ระดับ 36% ในวันที่ 1 ส.ค.นี้
นายปิติกล่าวว่า จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินกรณีภาษีอยู่ที่ 18% เป็นอัตราที่พิจารณาในภาพรวมว่าไทยอาจถูกเก็บในอัตรานี้ ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 1.5% โดยตัวเลขจากค่ากลางในกรอบ 1.5-2% ซึ่งปี 2568 ธปท. ประเมินจีดีพีไทยอยู่ที่ 2.3%
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของตัวเลขยังไม่สำคัญมากเท่ากับ ทิศทางโดยรวมของเศรษฐกิจ เพราะชัดเจนว่าครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไปเศรษฐกิจจะแผ่วลง หากนับจากเดือน ส.ค. เหลือเพียง 4 เดือน ซึ่งตัวสำคัญคือเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปี 2569 จากที่เห็นว่า ธปท. ปรับประมาณการลงที่ 1.7% จากเดิมที่ 1.8%

“ทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มชะลอลงพอสมควร อัตราการขยายตัวจากนี้ไป ไม่ดี เราขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ ผลจากปัจจัยที่เข้ามาแล้วเป็นช็อกที่ทอดยาว ซึ่งในกรณีเลวร้ายก็อยู่ในวิสัยที่เราได้ประเมินไว้ส่วนภาพใหญ่คงไม่เปลี่ยนว่าทิศทางของการขยายตัวเศรษฐกิจจะชะลอลง”นายปิติกล่าว
นายปิติกล่าวว่า หากมองผลกระทบจากปัญหาภาษีสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจไทยมีผลแตกต่างจากวิกฤตการเงินโลก (GFC) และวิกฤตโควิด-19 ที่เศรษฐกิจหยุดชะงักทันที
เนื่องจาก 1.การเก็บภาษีของสหรัฐฯ มีการรับรู้ตั้งแต่การเริ่มดำเนินการนโยบายนี้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทันทีหรือไม่สามารถปรับตัวได้ ซึ่งมีภาษีที่ถูกเก็บไปก่อนหน้านี้ที่ 10% แต่ภาษีอื่นๆ ยังไม่มีความชัดเจน

2.ลักษณะการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งก็จะทำให้ความต้องการซื้อของสหรัฐฯ ลดลง และอีกส่วนหนึ่งมีความพยายามจะผลักต้นทุนไปที่ผู้ประกอบการทั้งในสหรัฐฯ หรือผู้ส่งออกในประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นต้นทุนที่แพงขึ้นจากการทำธุรกิจค้า-ขาย โดยผลกระทบค่อนข้างกว้าง เพราะสหรัฐฯ คือผู้บริโภคหลักของโลก
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มีผลระยะยาวและรุนแรง เพราะส่งผลต่อโครงสร้างการค้าเปลี่ยน ซัพพายเชนเปลี่ยน ธุรกิจต้องปรับตัวในการหาตลาดใหม่ หากเทียบกับวิกฤตโควิด และ GFC ที่เกิดขึ้นเร็ว”นายปิติกล่าว