
ค่าแรงขั้นต่ำไทย อยู่อันดับไหนในอาเซียน?
เนื่องจากวันนี้ 1 พฤษภาคม 2568 เป็นวันแรงงานแห่งชาติ หนึ่งสิ่งที่แรงงานไทยจับตามองกันถ้วนหน้า คงจะหนีไม่พ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” หนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลไทย ภายใต้ผู้นำ นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ได้มีการหาเสียงไว้ คือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศไทย 400 บาท
สัญญาที่ทำไม่ได้ ของรัฐบาลไทย และค่าแรงขั้นต่ำทั่วไทย ที่ทำไม่ได้ในทันที เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น อาจจะกระทบไปถึงผู้ประกอบการหลายราย ในหลายห่วงโซ่อุตสาหกรรม ที่จะต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น จากการเพิ่มค่าแรง และอาจจะนำไปสู่การปิดกิจการไปในที่สุด ซึ่งก็มีบางจังหวัดในไทยที่มีการปรับขึ้นค่าแรงไปบ้างแล้ว สำหรับปี 2568 กับ 3 กลุ่มจังหวัด/อำเภอ ที่ค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดในประเทศไทย
โดยมีปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน เพียง 4 จังหวัด 1 อำเภอ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, ภูเก็ต และอำเภอเกาะสมุย (สุราษฎร์ธานี)
- ค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 380 บาท/วัน ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง (เชียงใหม่) และ อำเภอหาดใหญ่ (สงขลา)
- ค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 372 บาท/วัน หรือคิดเป็นการปรับเพิ่ม 2.5% จากอัตราเดิมสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด

อีจันเศรษฐกิจ จะพาทุกคนไปส่องค่าแรงขั้นต่ำของกลุ่มในประเทศอาเซียนกันว่า ไทย อยู่ในอันดับดับไหนของห่วงโซ่อาเซียน ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำในกลุ่มอาเซียนนั้นก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากเท่าไหร่ นอกจากประเทศสิงค์โปร์ที่ไม่มีค่าแรงขั้นต่ำอย่างเป็นทางการ
อันดับค่าแรงขั้นต่ำของประเทศสมาชิกอาเซียนในปี 2568
เมื่อเปรียบเทียบค่าแรงขั้นต่ำในกลุ่มประเทศอาเซียน ณ ปี 2568 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 5 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- สิงคโปร์ : ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำอย่างเป็นทางการ และเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เพระทางรัฐบาลอยากให้คนในประเทศแข่งขันและพัฒนาศักยภาพของตัวเอง แต่ก็มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในบางอาชีพ เช่น พนักงานทำความสะอาดเริ่มต้นที่ 1,570 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน หรือ ประมาณ 43,000 บาท
2. บรูไน : ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ แต่มีการกำหนดในบางภาคส่วน เช่น ภาคการธนาคารและเทคโนโลยีสารสนเทศ
3. มาเลเซีย : ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 1,500 ริงกิตต่อเดือน หรือประมาณ 11,790 บาท หรือประมาณ 393 บาทต่อวัน
4. อินโดนีเซีย : ค่าแรงขั้นต่ำแตกต่างกันไปตามภูมิภาค เช่น จาการ์ตาอยู่ที่ประมาณ 5,067,381 รูเปียห์ต่อเดือน ประมาณ 11,960 บาท/เดือน หรือประมาณ 398 บาทต่อวัน
5. ไทย : ค่าแรงขั้นต่ำระหว่าง 337 ถึง 400 บาทต่อวัน
ค่าจ้างขั้นต่ำแรงงานไทยปี 2568 เริ่มตั้งแต่ 337–400 บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่จังหวัด ได้แก่
400 บาท : ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ภูเก็ต, ระยอง, สุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย)
380 บาท : เชียงใหม่ (เฉพาะ อ.เมืองเชียงใหม่), สงขลา (เฉพาะ อ.หาดใหญ่)
372 บาท : กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร
359 บาท : นครราชสีมา
358 บาท : สมุทรสงคราม
357 บาท : ขอนแก่น, เชียงใหม่ (ยกเว้น อ.เมือง), ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี
356 บาท : ลพบุรี
355 บาท : นครนายก, สุพรรณบุรี, หนองคาย
354 บาท : กระบี่, ตราด
352 บาท : กาญจนบุรี, จันทบุรี, เชียงราย, ตาก, นครพนม, บุรีรัมย์, ประจวบคีรีขันธ์, พังงา, พิษณุโลก, มุกดาหาร, สกลนคร, สงขลา (ยกเว้นหาดใหญ่), สระแก้ว, สุราษฎร์ธานี (ยกเว้นเกาะสมุย), อุบลราชธานี
351 บาท : ชุมพร, เพชรบุรี, สุรินทร์
350 บาท : นครสวรรค์, ยโสธร, ลำพูน
349 บาท : กาฬสินธุ์, นครศรีธรรมราช, บึงกาฬ, เพชรบูรณ์, ร้อยเอ็ด
348 บาท : ชัยนาท, ชัยภูมิ, พัทลุง, สิงห์บุรี, อ่างทอง
347 บาท : กำแพงเพชร, พิจิตร, มหาสารคาม, แม่ฮ่องสอน, ระนอง, ราชบุรี, ลำปาง, เลย, ศรีสะเกษ, สตูล, สุโขทัย, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี
345 บาท : ตรัง, น่าน, พะเยา, แพร่
337 บาท : นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา

6. ฟิลิปปินส์ : ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 229.34 บาทต่อวัน
7. เวียดนาม : ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 250 บาทต่อวัน
8. กัมพูชา : ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 250.24 บาทต่อวัน
9. เมียนมา : ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 101.56 บาทต่อวัน
10. ลาว : ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 100.58 บาทต่อวัน
จากข้อมูลข้างต้น ประเทศไทยมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในระดับกลางของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค แต่ยังต่ำกว่าบางประเทศ เช่น มาเลเซียและอินโดนีเซีย