
วันนี้ (8 ก.ค. 2568) แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสาย ในราคาไม่เกิน 20 บาทตลอดสายนั้น คณะกรรมการขับเคลื่อนการลงทุนตามนโยบายรถไฟฟ้าอัตราเดียวตลอดสาย ได้ประชุมนัดแรกวันนี้ (8 ก.ค. 2568) โดยที่ประชุมมีมติจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทั้งระยะสั้นและยาว รวมถึงการซื้อคืนสัมปทานจากภาคเอกชน เช่น การตั้งกองทุนเข้ามาอุดหนุน ซึ่งมีนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
สำหรับการประชุมครั้งนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน นอกจากนี้ยังมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม น.ส.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม กล่าวก่อนการประชุม ว่า การดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐราว 7-8 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นการคาดการณ์จากจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า โดยในการประชุมครั้งนี้จะมีการหารือแนวทางการดำเนินโครงการดังกล่าวในระยะยาว อาทิ การตั้งกองทุนอุดหนุนเป็นต้น
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายนี้จะครอบคลุมโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 286.84 กิโลเมตร 193 สถานี ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม สายสีแดงอ่อน และแอร์พอร์ตลิงก์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเหลือ สายสีชมพู ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสุขุมวิท สายสีลม และสายสีทอง ของกรุงเทพมหานคร (กทม.)
โดยเบื้องต้นจะใช้วงเงินในการดำเนินการจำนวน 5,668 ล้านบาท แบ่งเป็น การชดเชยรายได้ค่าโดยสาร ซึ่งมีแหล่งเงินจากงบประมาณแผ่นดิน เงินกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม หรือแหล่งเงินอื่นที่เหมาะสม อีกส่วนคือ การพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง ซึ่งจะใช้เงินจากงบกลาง โดยในการดำเนินมาตรการทั้งหมดจะครองคลุม 1 ปี