เตือน! “อาการเบื่อวันจันทร์” อาจเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ 

เคยคิดมั้ย? วันจันทร์อีกแล้ว.. หมอหมู ออกโรงเตือน “อาการเบื่อวันจันทร์” อาจเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ

ใคร “เบื่อวันจันทร์” สารภาพมาเดี๋ยวนี้เลย… 

เมื่อวันที่ 14 ก.ค.68 ที่ผ่านมา รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับภาวะที่ทุกคนต้องเคยเป็น อย่าง “อาการเบื่อวันจันทร์” สิ่งเล็กๆเหล่านี้แหละที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ 

โดยหมอได้เตือนว่า  “Monday Blues” อาการเบื่อวันจันทร์  ไม่ใช่แค่ความรู้สึกเบื่อธรรมดาที่หลายคนประสบ ไม่ใช่แค่ความรู้สึกไม่สบายใจเล็กน้อย แต่เป็นปรากฏการณ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจอย่างมีนัยสำคัญ 

ผลกระทบต่อสุขภาพที่แท้จริง 

1. เพิ่มความเสี่ยงของอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง มีงานวิจัยบางชิ้นที่บ่งชี้ว่าอัตราการเกิดอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองมีแนวโน้มสูงขึ้นในวันจันทร์ ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับความเครียดที่สะสมจากการเริ่มต้นสัปดาห์ทำงาน 

2. ความเครียดและฮอร์โมน การเริ่มต้นสัปดาห์ทำงานอาจนำมาซึ่งความเครียดที่เพิ่มขึ้น ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียด เช่น คอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งหากอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน สามารถส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน และสุขภาพจิตโดยรวม 

3. ปัญหาสุขภาพจิต ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือความผิดปกติทางอารมณ์อื่นๆ อาจรุนแรงขึ้นในวันจันทร์ เนื่องจากความรู้สึกกดดัน ความไม่พอใจในงาน หรือความรู้สึกที่ต้องกลับไปเผชิญกับสิ่งที่เครียด 

4. ปัญหาการนอนหลับ การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันในช่วงสุดสัปดาห์ (นอนดึก ตื่นสาย) แล้วต้องปรับกลับมาสู่ตารางการทำงานในวันจันทร์ อาจทำให้เกิดปัญหาการนอนหลับได้ ซึ่งการนอนหลับไม่เพียงพอเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากมาย 

สาเหตุของ “Monday Blues” อาการเบื่อวันจันทร์ เกิดขึ้นเพราะ? 

มาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจากความผ่อนคลายในวันหยุดสุดสัปดาห์ไปสู่ความรับผิดชอบและความกดดันในการทำงาน รวมถึงความรู้สึกไม่พอใจในงานที่ทำ หรือการคาดการณ์ถึงความเครียดในสัปดาห์ข้างหน้า 

คำแนะนำเพิ่มเติมก็คือ  

1. การปรับตารางการนอนหลับให้คงที่ตลอดสัปดาห์ 

2. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ 

3. การหาวิธีผ่อนคลายความเครียด 

4. การวางแผนกิจกรรมที่น่าสนใจในวันจันทร์ 

5. การพิจารณาถึงความพึงพอใจในอาชีพการงาน 

ทั้งนี้ลองปรับพฤติกรรมดูนะคะ เผื่อว่า อาการนี้จะหายไปหรือไม่ก็ลดลงไปได้บ้าง ‘อีจัน’เอาใจช่วยนะคะ  

ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์  https://www.facebook.com/share/p/16VXyzVBcj/