ลุ้น! ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบ 2 นำร่อง 10 จังหวัดท่องเที่ยว

บอร์ดค่าจ้างมีมติ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบ 2 นำร่องใน 10 จังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยว รอสำรวจพื้นที่-ตัวเลขการปรับ พิจารณาต่อ 26 มี.ค.นี้

เรื่องปากท้องสำคัญ ค่าแรงที่จะขยับก็เช่นกัน

เมื่อวานนี้ (27 ก.พ.67) คณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดค่าจ้าง ชุดที่ 22 ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ประชุมหารือประจำเดือนที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ สูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ตามที่คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเสนอ และเห็นชอบแนวทางการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างฯ มีมติให้มีการปรับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ โดยคำนวณตามรายพื้นที่และประเภทกิจการ ซึ่งต้องพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันรวมถึงอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ 10 จังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง

ยกตัวอย่างพื้นที่กรุงเทพฯ ในเขตปทุมวัน เขตสาทร , จ.พังงา ในพื้นที่ อ.เขาหลัก , จ.สงขลา อ.หาดใหญ่ ,  จ.ชลบุรี ใน ต.แสนสุข เป็นต้น

โดยให้สำรวจอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ตามมาตรฐานค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของลูกจ้าง และข้อเท็จจริงของสังคมเศรษฐกิจ ตลอดจนความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก (SME) พร้อมกันนี้ ให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด สำรวจในจังหวัดของตนเองว่า มีพื้นที่ใดที่ควรได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และควรปรับเพิ่มในอัตราเท่าใด โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ จากนั้นให้ส่งผลการสำรวจกลับเข้าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างฯ ในวันที่ 26 มีนาคมนี้

นายไพโรจน์ กล่าวว่า สูตรค่าจ้างครั้งนี้เป็นมิติใหม่ของการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยครั้งนี้มีการคำนวณจากรายพื้นที่ หรือคิดตามประเภทกิจการ โดยการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างครั้งนี้จะพยายามทำให้เสร็จตามไทม์ไลน์ คือประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ในเดือนเมษายน

นายไพโรจน์ กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดนี้จะเป็นแนวทาง แต่อาจจะมากกว่านี้หรือไม่ ต้องดูการพิจารณาของ 10 จังหวัดนี้ก่อน

ส่วนจะได้ถึง 400 บาทต่อวันหรือไม่นั้น เราจะพยายามทำให้ดีที่สุด แต่ไม่ขอพูดไปก่อน ซึ่งจะต้องทำตามข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสำรวจ ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีแรงกดดันจากรัฐบาลแต่อย่างใด

นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 กล่าวว่า วันนี้เป็นการพิจารณาสูตรใช้ในปี 2567 ซึ่งมีการปรับสูตรมาโดยตลอด จนวันนี้ อนุกรรมการพิจารณาได้สูตรใหม่ขึ้นมา ซึ่งปรับปรุงให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายมากขึ้น เพื่อที่จะใช้ในปี 2567 นี้

เมื่อถามว่า หากจะต้องมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้ถึง 400 บาท จะต้องมีการเพิ่มอย่างน้อย 30 บาท ฝ่ายนายจ้างเห็นอย่างไร นายอรรถยุทธ กล่าวว่า การจะปรับขึ้นจะต้องมีเหตุและผล โดยปกติจะมีการปรับขึ้นปีละ 1 ครั้ง นอกจากมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น เช่น เงินเฟ้อขึ้นมากกว่าร้อยละ 5 และเป็นข้อมูลที่ทางจังหวัดส่งเข้ามาว่าควรจะปรับหรือไม่ ดังนั้น หากมีเหตุปัจจัยที่สามารถทำให้ค่าจ้างขึ้นเราก็รับได้ ซึ่งตั้งแต่ที่ตนอยู่ในคณะกรรมการค่าจ้างก็ยอมรับการปรับค่าจ้างถ้ามีเหตุและผล ทั้งนี้ ถ้ามีการปรับค่าจ้างขึ้นถึงวันละ 400 บาท ทางธุรกิจเอสเอ็มอีก็มีความกังวลอยู่ แต่การจะขึ้นหรือไม่ขึ้นนั้นต้องมีเหตุปัจจัยว่าสามารถทำได้หรือไม่

ด้านนายวีรสุข แก้วบุญปัน ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างกล่าวว่า ที่พิจารณาอัตราค่าจ้างในวันนี้คิดว่าเป็นธรรมแล้ว ซึ่งตอนนี้กระทรวงแรงงานกำลังสำรวจตัวแปรของค่าจ้างแต่ละจังหวัดที่จะไม่เท่ากัน รวมถึงความแตกต่างของแต่ละสาขาอาชีพ เช่น จ.ชลบุรี ที่มีทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและแหล่งท่องเที่ยว ก็จะมีการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่างออกไป

ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก : สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว


คลิปอีจันแนะนำ

คำพูดแม่ จี๊ดใจ! เมื่อลูกไม่มีผัว