อยากลองต้องรู้ก่อน! อาหารจาก กัญชา มีประโยชน์หรือโทษยังไงบ้าง

อาหารจาก กัญชา โผล่มาเยอะมากในช่วงนี้ แต่ก่อนจะไปลองชิม มาศึกษาข้อมูลจากคุณหมอก่อน

อาหารจาก กัญชา ทำไมหน้าตาน่าลิ้มลองแบบนี้! แต่ก่อนจะไปลองชิม จันได้ขอความรู้เกี่ยวกับ กัญชา จากคุณหมอมาฝากค่ะ

ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ให้ข้อมูลกับจันถึงกระแสที่เริ่มมีร้านอาหารนำ กัญชา มาเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารค่ะ ซึ่งคุณหมอบอกว่า กัญชา ณ วันนี้ ส่วนที่ปลดออกจากรายการยาเสพติด มีใบ ราก ลำต้น ซึ่ง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ได้เก็บรวบรวมความรู้เรื่องของการใช้สมุนไพรของคนในท้องถิ่นอยู่แล้ว พบว่าส่วนที่นำมาใช้ปรุงอาหารจะเป็นส่วนของใบเพียงอย่างเดียว โดยใช้ปริมาณที่ไม่มาก จากที่สืบค้นและเก็บข้อมูลจากหมอพื้นบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ห่างไกล ในสมัยก่อนพืช กัญชา เป็นพืชที่ขึ้นได้ทั่วไปในประเทศ เวลาจะใช้ปรุงอาหารเขาจะเด็ดประมาณ 1-3 ยอด ไม่เกินนี้ ใส่ลงไปในหม้อแกง เพื่อทำให้กินข้าวได้ นอนหลับดี ซึ่งการใช้ลักษณะนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการใช้รักษาในหมอพื้นบ้านด้วย ลักษณะของการใช้รักษาของหมอพื้นบ้าน จะเน้นในแบบขององค์รวม หมายถึงว่า นอกเหนือจากการให้ยา หมอพื้นบ้านก็จะดูด้วยว่าคนไข้กินข้าวได้ นอนหลับไหม ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรง บางทีก็จะมีการแนะนำให้ใส่ ใบกัญชา ในปริมาณไม่มาก ลงไปในตำหรับยาหรือตำหรับอาหาร เพื่อทำให้ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น พอคนไข้กินข้าวได้ นอนหลับดี ผลการรักษาก็จะดีตามไปด้วย

ใครบ้างที่สามารถกินอาหารที่มีส่วนผสมของใบกัญชาได้หรือควรหลีกเลี่ยง?

ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เผยว่า พอเราเห็นข้อมูลพื้นบ้านแล้ว เราก็ไปวิจัยในข้อมูลปัจจุบัน การวิจัยในปัจจุบันบอกว่า กัญชา ที่เป็นส่วนของใบ ก็มีแร่ธาตุเหมือนกับพืชทั่วๆไป แต่อาจจะมีโซเดียมในปริมาณที่เยอะ เพราะฉะนั้นเวลากินแล้ว ทำผู้บริโภคหลายคนจะบอกว่า หิวน้ำ ปากแห้ง คอแห้ง อันที่สองพบว่าใน ใบกัญชา มี glutamate acid ซึ่งสารนี้ก็คือช่วยทำให้เกิดรสกลมกล่อม หรือว่าเป็นผงชูรส ซึ่งก็ต้องบอกว่านี่คือความฉลาดของคนไทย ที่เราใส่ปริมาณไม่เยอะและทำให้รสชาติของอาหารมันกลมกล่อม ทีนี้ในเรื่องของการนำ ใบกัญชา มาใช้ในการดูแลสุขภาพ ก็มีการศึกษาว่าใน กัญชา มีสารสองชนิดคือ THC คือสารเมา และ CBD สารไม่เมา ทั้งสองชนิดนี้ถ้าใช้ปริมาณสูงจะใช้เป็นยาได้เลย คือใช้ปริมาณน้อยๆมันจะทำให้ความอยากกินอาหารเพิ่มขึ้น แล้วก็กระตุ้นกระฉับกระเฉง ในต่างประเทศเองก็จะได้รับการอนุญาตนำสารสกัดต่างๆใน กัญชา ใส่ลงไปในช็อกโกแลต น้ำผึ้ง อะไรต่างๆ คนที่เพิ่งเริ่มกินใหม่ๆ เขาจะให้ปริมาณที่น้อยมากๆ เพราะฉะนั้นอยากจะเตือนผู้บริโภค เพราะว่าผู้บริโภคก็จะบอกว่าในต่างประเทศเขาไม่ใช้ใบกัญชาเลย ทำไมเราใช้ใบ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร อันนี้ก็เป็นข้อมูลเบื้องต้น

ส่วนที่ รพ.อภัยภูเบศร ซึ่งเรามีฟาร์ม กัญชา ปลูกให้กับผู้ป่วยและเอาใบมาวิเคราะห์ ก็พบว่าใน 1 ใบกัญชา มีสาร THC อยู่ประมาณ 0.5 – 1 % ก็ราวๆอยู่ที่ 1.2 มิลลิกรัม ซึ่งถ้าเทียบกับในแคนาดา หรือเนเธอร์แลนด์ กลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มกินน่าจะสัก 1 มิลลิกรัม เราก็คิดว่าสัก 1-2 ใบ ก็ควรจะกินปริมาณไม่เยอะ แล้วทานได้มากที่สุดเท่าไหร่ ในแคนาดาเขาก็จะกำหนดไว้ว่า ถ้าเกิดว่าเอาสารสกัดมาใส่ในอาหาร ขนม เขาก็จะให้แพ็กกิ้งหนึ่ง THC ไม่เกิน 10 มิลลิกรัม ซึ่งเราก็คำนวณมาเป็นใบ ประมาณ 5 – 10 ใบ ซึ่งใกล้เคียงกับโบราณที่บอกว่าวันหนึ่ง คนหนึ่ง ควรจะไม่เกิน 5- 8 ใบ แล้วก็อาจจะไม่ได้มีความจำเป็นที่เราต้องกินทุกวัน เพราะว่ามันไม่ได้มีผลในการรักษา ความเข้มข้นมันจะไม่ได้สูงมาก ทีนี้พอเรามองในเรื่องของสารที่อาจจะเป็นอันตราย ณ วันนี้เราไม่มีขนาดที่ว่าควรจะกินเท่าไหร่ ถึงจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพหรือทำให้เกิดภาวะเสพติด เพราะฉะนั้นในกลุ่มคนที่เราคิดว่ายังมีข้อมูลไม่เพียงพอ เราจะไม่แนะนำ เช่น เยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี เพราะว่าการพัฒนาการของสมองมันเต็มที่เมื่ออายุ 25 ปี แล้วก็มันมีการศึกษาที่บอกว่า THC อาจทำให้ไปยับยั้งหรือชะลอการพัฒนาการของสมอง และคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร อันนี้เรายังไม่มีข้อมูลว่ามันผ่านรกหรือว่าผ่านน้ำนมออกมาได้หรือเปล่า ส่วนกลุ่มที่เป็นผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับ ไต และหัวใจที่ไม่ดี เพราะเนื่องจากว่าเวลาเรากิน กัญชา เข้าไป มันจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสารอีกตัวหนึ่งที่ตับ เพราะฉะนั้นถ้าตับคุณไม่ดีอยู่แล้วมันจะทำงานมากขึ้น หรือมันจะต้องผ่านการกรองที่ไต ซึ่งเรายังมีข้อมูลไม่เพียงพอ รวมทั้ง THC ถ้าใช้ในคนไข้ที่มีภาวะหัวใจการทำงานไม่คงที่ ก็อาจจะมีปัญหาได้ กลุ่มสุดท้ายก็คือกลุ่มคนไข้ที่ทานยาที่มีผลต่อสมอง เป็นกลุ่มที่เราไม่แนะนำ หรือว่าควรหลีกเลี่ยงรับประทาน

สุดท้าย ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ฝากประชาสัมพันธ์ถึงผู้ประกอบการร้านค้า ว่า ทุกวันนี้การใช้ กัญชา มาเป็นส่วนประกอบในอาหาร ซึ่งอาจจะมีคนอื่นๆในสังคมที่เรียกว่าอาจจะมีความเชี่ยวชาญกว่า รพ.อภัยภูเบศร แต่ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ มองเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ว่าจะนำมาใช้เป็นอาหารหรือใช้เป็นยา ถ้ากินแล้วเสียชีวิต พิการ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นเราก็เลยอยากจะเตือนเรื่องความปลอดภัย แต่ว่าถ้าเราใช้ไประยะหนึ่ง 3 – 5 ปีแล้วมันปลอดภัย เราก็ค่อยๆขยับขยายใช้ให้กว้างขวางมากขึ้นก็ทำได้

อย่างไรก็ตามขอประชาสัมพันธ์ว่า ณ ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้บังคับร้านอาหารที่จะทำเรื่องอาหารที่มีส่วนผสมของ ใบกัญชา ต้องมาอบรม ท่านก็เปิดได้ เพียงแต่ว่าท่านต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม แต่ว่าท่านใดที่อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมทาง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกับสถาบันการศึกษาทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เราจะจัดอบรมให้ในงานมหกรรม กัญชา และ กัญชง 360 องศา ที่ จ.บุรีรัมย์ ในวันที่ 5-7 มี.ค. 64 นี้ สามารถมาอบรมได้ แต่ใครที่เดินทางไม่สะดวก ทาง รพ.อภัยภูเบศร เราได้ทำเป็นคู่มือแบบออนไลน์ไว้ให้ ท่านสามารถไปดาวน์โหลดมาศึกษาเองต่อได้

รู้แบบนี้แล้ว ใครที่สนใจอาหาร กัญชา ก็ลองศึกษาข้อมูลกันให้ดีนะคะ และที่สำคัญ จันขอย้ำ! กัญชา ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใครก็ได้ปลูกอย่างเสรีนะคะ ต้องมีการขออนุญาตปลูกเพื่อทางการแพทย์และเพื่อประโยชน์เท่านั้น ต้องมีการลงทะเบียนต้น กัญชา ด้วย อย่านะคะๆ อย่าหาปลูกเองทั่วไป แบบนั้นผิดกฎหมายอยู่นะคะ