
(วันนี้ 29 เม.ย.68) นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากนโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐอเมริกา การที่ประเทศมหาอำนาจมีการกระทบกันส่งผลต่อการค้าของโลกแน่นอน ไทยเราเป็นประเทศเล็กย่อมได้รับผลกระทบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องหามาตรการมารับมือ ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2568 ที่เมื่อต้นปีคาดว่าจะขยายตัวที่ 3% ต่อปี คงเป็นไปได้ยาก

นายลวรณ กล่าวว่าแต่สิ่งที่ต้องทำคือทำอย่างไรก็ได้ในผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือทำตัวเลขจีดีพีให้มีช่องว่างต่ำกว่า 3% ให้น้อยที่สุด ส่วนการแถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ คาดว่าจะยังคงประมาณการไว้ เพราะยังไม่ทราบถึงผลกระทบ แต่ก็จะมีการคาดการณ์ไว้ในหลายกรณี ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า จีดีพีไทยปีนี้จะเหลือเท่าไหร่ เพราะยังไม่รู้เลยว่าสุดท้ายแล้ว ไทยจะโดนสหรัฐขึ้นภาษีเท่าไหร่ และโดนในสินค้าอะไรบ้าง รวมทั้งการเจรจาของคณะเจรจาเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจ หรือทีมไทยแลนด์ ที่จะเดินไปคุยกับทางการสหรัฐจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ยืนยันว่าขณะนี้ทีมไทยแลนด์ ที่นำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากากระทรวงการคลัง มีความพร้อมที่ไปเจรจาแน่นอน แต่ถ้าโจทย์เปลี่ยนก็คงต้องมีการทำการบ้านเพิ่มเติมเข้าไป ปัจจุบันสหรัฐออกนโยบายภาษีตอบโต้มา เนื่องจากสหรัฐต้องการลดการขาดดุล ประเทศไทยก็จะเป็นในส่วนของเรื่องการค้า การลดการขาดดุล และการเป็นพันธมิตรที่ดีกับสหรัฐ แต่วันจริงที่จะไปเจรจากับสหรัฐ เขาคงไม่ได้เตรียมแค่เรื่องของมิติเศรษฐกิจและการค้าเท่านั้น แต่อาจจะมีมิติการต่างประเทศ ความมั่นคง ซึ่งทุกหน่วยงานของรัฐบาลก็ต้องเข้ามาร่วมมือกันเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งนี้ในช่วงที่อาจจะเป็นวิกฤตนี้ อาจจะเป็นโอกาสของประเทศไทยในการเป็นเซฟโซนของการลงทุนก็ได้
ในส่วนของกรณีที่รัฐบาลจะออกเงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น อันดับแรก คือ ต้องรู้ก่อนว่าจะทำมาตรการ หรือโครงการอะไร จากนั้นก็ต้องดูว่าสิ่งที่จะทำนั้น ใช้เงินเท่าไหร่ และต้องไปดูว่ารัฐบาลมีเงินเหลือเท่าไหร่ ไม่ว่าจะจากการเกลี่ยหรือที่จัดสรรงบประมาณ มีเท่าไหร่ เพียงพอหรือไม่ ถ้าสรุปแล้วว่าพอก็อาจจะไม่ต้องกู้ แต่ถ้าหากยังขาดเงินอยู่ ถึงจะนำไปสู่การกู้เงิน
“ที่บอกว่ากู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ตัวเลข 5 แสนล้านบาทเป็นเพียงตุ๊กตาที่ตั้งไว้เท่านั้น ขณะนี้ยังไม่ใครรู้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร หรือทำไรที่จะรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ได้ ถ้ารู้ในส่วนนี้แล้วถึงจะรู้ว่าราคา หรือเงินที่ต้องใช้เท่าไหร่ เรามีเงินพอหรือไม่ ถ้าไม่พอค่อยไปกู้มา ทั้งนี้ 5 แสนล้านบาท มีผลกระทบให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น 3%”
สำหรับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นห่วงเรื่องของการที่รัฐบาลจะมีการก่อหนี้เพิ่มมากขึ้นนั้น ส่วนตัวขอย้ำว่า คำว่า การเป็นหนี้ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ตราบใดก็ตามที่ผู้กู้รู้ว่าจะเอาเงินไปใช้อะไร และคนกู้ยังมีความสามารถในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามกำหนด
สำหรับกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 30 เมษายน จะต้องมีการพิจาณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ นั้น เป็นหน้าที่การพิจารณาของ กนง. แต่เชื่อว่าคณะ กนง. ก็คงนำข้อมูล หรือปัจจัยใหม่ๆที่เข้ามาไปหารือกันอยู่แล้วแน่นอนว่านโยบายการเงินก็มีผลต่อเศรษฐกิจโดนรวม ดังนั้น กนง.ก็คงจะมีมติที่เหมาะสมที่สุดออกมา