‘สนามบินดอนเมือง’ ติดอันดับ 26 จาก 29 สนามบิน ที่อันตรายที่สุดในโลก

อึ้งไปเลย! เว็บไซต์ด้านการเดินทาง จัดอันดับสนามบินที่อันตรายที่สุดในโลก ‘สนามบินดอนเมือง’ ของไทย ติดอันดับ 26 จาก 29 สนามบิน

ช่วงปลายเดือน เม.ย.66 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ด้านการเดินทาง The Boutique Adventurer เผยแพร่บทความเกี่ยวกับ 29 สนามบินที่อันตรายที่สุดในโลก และ ‘ท่าอากาศยานดอนเมือง’ มีชื่ออยู่ในอันดับที่ 26 ด้วย

แต่ที่น่าประหลาดใจ จากรายงานดังกล่าว พบว่ารายชื่อสนามบินอันตรายที่ติดโผ ไม่ได้มีแค่สนามบินที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น เพราะสนามบินในประเทศพัฒนาแล้วก็มีชื่อรวมอยู่ในนี้เช่นกัน

เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น นอร์เวย์ เป็นต้น โดยสาเหตุและการจัดอันดับความอันตรายของสนามบินจะแบ่งออกตามประเภท เช่น ระดับความสูง กระแสลม ความยาวของรันเวย์ ทำเลที่ตั้งรันเวย์ รวมถึงปัจจัยต่างๆ ทางสังคม สถานการณ์ทางการเมือง และเหตุการณ์ความไม่สงบด้วย

สนามบินแรกที่เว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยวอธิบายถึงความอันตราย ก็คือ ‘สนามบินนานาชาติคันไซ’ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลของทำเลที่ตั้งที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะแผ่นดินไหวและลมพายุตามฤดูกาลที่เกิดเป็นประจำทุกปี

ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้ ‘สนามบินดอนเมือง’ เป็นหนึ่งในสนามบินอันตรายที่สุดในโลกนั้น มาจากปัญหาทำเลที่ตั้ง เนื่องจากรันเวย์ของสนามบินถูกขนาบด้วยสนามกอล์ฟ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ การบินพลเรือนของไทยยังเคยถูกติดธงแดงเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ก่อนจะถูกปลดธงแดงออกเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ความอันตรายของสนามบินยังสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

สนามบินที่อันตรายจากสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้นได้จากกระแสลมแรง และได้รับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ

  • สนามบิน Barra International Airport (สกอตแลนด์)

  • Wellington International Airport (นิวซีแลนด์)

  • McMurdo Station Airport (ทวีปแอนตาร์กติกา)

สนามบินที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็น

  • Svalbard Airport (นอร์เวย์)

  • Gustaf III Airport (แคริบเบียน)

  • Gisborne Airport (นิวซีแลนด์)

  • Madeira Airport (โปรตุเกส)

  • Gibraltar Airport (ยิบรอลตาร์)

อันตรายจากระดับความสูง

  • Lukla Airport (เนปาล) เนื่องจากอยู่บริเวณเบสแคมป์ในหิมาลัยเทือกเขาสูงที่สุดในโลก

  • Aspen/Pitkin County Airport (โคโลราโด สหรัฐอเมริกา)

  • Telluride Regional Airport ในเมืองโคโลราโดเช่นกัน แต่อยู่บนหุบเขาที่มีหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี

  • Courchevel Airport (ฝรั่งเศส) เป็นสนามบินที่อยู่กลางหุบเขาและรีสอร์ตสกี

อันตรายจากสภาพของรันเวย์ โดยปัญหาจากรันเวย์ของแต่ละสนามบินจะมีความแตกต่างกันออกไป

  • Princess Juliana International Airport (เซนต์มาร์ติน) เล็กและแคบกว่าสนามบินทั่วไป

  • Narsarsuaq Airport (กรีนแลนด์) เสี่ยงมีน้ำแข็งปกคลุมรันเวย์ช่วงอากาศหนาวเย็น

  • Cleveland Hopkins International Airport (คลีฟแลนด์ สหรัฐอเมริกา) ฝนตกหนักบ่อย และเคยถูกประเมินว่าระบบความปลอดภัยต่ำ

  • Agatti Airport หรือ Aerodrome (เกาะอากัตติ, Agatti Islands ของอินเดีย มีรันเวย์เล็กและแคบกว่าสนามบินทั่วไป

  • Congonhas-São Paulo Airport (บราซิล) รันเวย์ลื่น เคยมีอุบัติเหตุเครื่องบินไถลออกนอกลู่ จนมีผู้เสียชีวิต 180 ราย ในปี 2007

อันตรายจากทำเลที่ตั้ง

  • Santos Dumont Airport (บราซิล) มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้การลงจอดทำได้ยาก ตามไปด้วย

  • San Diego International Airport (เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา) อยู่ใจกลางเมืองท่ามกลางตึกสูง อาจเกิดปัญหาเวลาเครื่องบินลดระดับก่อนลงจอดได้

  • Toncontin International Airport (ฮอนดูรัส) อยู่กลางหุบเขา

  • Kai Tak Airport (ฮ่องกง) อยู่กลางเกาะฮ่องกง มีตึกสูงอยู่ล้อมรอบ

  • Shimla Airport (อินเดีย) อยู่กลางภูเขาสูง

  • Tioman Island Airport (มาเลเซีย) อยู่ใกล้ภูเขาไฟ ทำให้เวลาลงจอดต้องหักลำเกือบ 90 องศา

อันตรายจากปัจจัยทางการเมืองและเหตุการณ์รุนแรงในสังคม คือ Damascus International Airport (ซีเรีย) เนื่องจากอยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมืองต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี และยังเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มติดอาวุธอีกด้วย

ทั้งนี้ สำหรับ ‘สนามบินดอนเมือง’ มีชื่อเดิมว่าสนามบินกรุงเทพ เปิดดำเนินการครั้งแรก วันที่ 27 มีนาคม 2457 ก่อนจะปิดตัวชั่วคราวในปี 2549 และเปลี่ยนเป็นสถานที่ซ่อมเครื่องบิน ฝึกบิน และจอดเครื่องบินส่วนตัวของบุคคลสำคัญ ก่อนจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในปี 2555 ทำให้สนามบินดอนเมืองเป็นหนึ่งในสนามบินที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และยังเป็นสนามบินเก่าแก่ที่สุดในเอเชียที่ยังดำเนินการอยู่อีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ด่วน ผู้โดยสารล้ม ถูกทางเลื่อน สนามบินดอนเมือง ดูดขาซ้ายขาด