ประกันสังคม เปิดยอดจ่ายเงินทดแทน (เดือน พ.ค.66) 7 เคส 5.9 พันล้าน

เดือน พ.ค.66 ‘ประกันสังคม’ จ่ายเงินทดแทน เจ็บป่วย, คลอดบุตร, ทุพพลภาพ, ตาย, สงเคราะห์บุตร, บำเหน็จ-บำนาญชราภาพ, ว่างงาน รวม 5.9 พันล้าน

มนุษย์เงินเดือนทุกคน คงคุ้นเคยกับ ‘ประกันสังคม’ เป็นอย่างดี เพราะทุกเดือน ลูกจ้างหรือประกันสังคม มาตรา 33 จะถูกหัก 5% ของเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 750 บาท เพื่อสบทบเข้ากองทุนประกันสังคม ให้ได้รับการรักษาพยาบาล ได้รับความคุ้มครองเมื่อว่างงาน, ประสบอันตราย/เจ็บป่วย, คลอดบุตร, ทุพพลภาพ, เสียชีวิต, สงเคราะห์บุตร หรือชราภาพ

โดยเงินสมทบนี้ นอกจากลูกจ้างที่ต้องเป็นผู้สมทบแล้ว ยังมาจากนายจ้าง 5% รัฐบาล 2.75% ซึ่งในส่วนของลูกจ้างและนายจ้าง สถานประกอบการสามารถชำระเงินสมทบได้ทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อไม่ให้พลาดทุกการชำระเงินในแต่ละเดือน

ทั้งนี้ นอกจากมาตรา 33 แล้ว ประกันสังคม ยังมีอีก 2 ประเภท ได้แก่ มาตรา 39 และมาตรา 40 โดยแตกต่างกันที่สถานะของผู้ประกันตน ซึ่งมีผลต่อเงินสมทบที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนและความคุ้มครองที่ได้รับ

สำหรับ มาตรา 39 เป็นของผู้ที่เคยมีสถานะเป็น มาตรา 33 จ่ายเงินสมทบก่อนออกจากงานไม่น้อยกว่า 12 เดือน แล้วยังต้องการรักษาสิทธิเต็ม โดยต้องออกจากงานมาไม่เกิน 6 เดือน จ่ายสมทบเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน

ส่วน มาตรา 40 สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีสถานะทั้ง มาตรา 33 และ 39 แต่ต้องการสมัครประกันสังคม เช่น อาชีพ ฟรีแลนซ์ ค้าขาย และพ่อบ้านแม่บ้าน เป็นต้น โดยมี 3 ทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ได้แก่

1.จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ในอัตรา 70 บาทต่อเดือน 2.จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และกรณีชราภาพ ในอัตรา 100 บาทต่อเดือน

และ 3.จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร ในอัตรา 300 บาทต่อเดือน

ขณะที่ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการดูแลผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่ผ่านมาว่า ยอดรวมของผู้ประกันตนที่มาขอรับสิทธิประโยชน์ กองทุนประกันสังคม 7 กรณี ณ จุดจ่ายเงินทุกช่องทาง ทั่วประเทศ ในเดือน พ.ค.66 ที่ผ่านมา มีผู้ประกันตนมาขอรับสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญชราภาพ จำนวน 571,077 ราย

สำนักงานประกันสังคม จ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนสูงสุดถึง 1,698,625,601.68 บาท ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตรมีผู้ประกันตนมาใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 1,283,876 ราย สำนักงานประกันสังคมจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนไปจำนวนทั้งสิ้น 1,098,940,300 บาท

รองลงมาเป็นกรณีบำเหน็จชราภาพ มีผู้มาใช้สิทธิ 28,458 ราย จ่ายประโยชน์ทดแทนไป 1,068,287,884.24 บาท กรณีว่างงาน มีผู้ใช้สิทธิ 316,163 ราย จ่ายประโยชน์ทดแทนไป 949,757,470.20 บาท กรณีคลอดบุตร มีผู้ใช้สิทธิ 39,356 รายจ่ายประโยชน์ทดแทนไป 612,171,580.75 บาท กรณีตาย มีผู้ใช้สิทธิ 8,921 ราย จ่ายประโยชน์ทดแทนไป 263,647,395.65 บาท

กรณีเจ็บป่วย มีผู้ใช้สิทธิ 118,067 ราย จ่ายประโยชน์ทดแทนไป 178,481,217.02 บาท กรณีทุพพลภาพ มีผู้ใช้สิทธิ 27,049 ราย จ่ายประโยชน์ทดแทนไป 95,107,514.71 บาท โดยยอดรวมผู้ประกันตนมาใช้สิทธิในเดือน พ.ค.66 มีจำนวน 2,392,267 ราย สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนให้กับผู้ประกันตนไปแล้วทั้งสิ้น 5,965,018,964.25 บาท

ทั้งนี้ นายบุญสงค์ กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติการใช้สิทธิดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการดูแลผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นพัฒนาและปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุด

คลิปอีจันแนะนำ
กู้ภัยโพสต์คลิป ผู้หญิงถ่ายคลิปแล้วตะคอก ทำไมต้องมีรถกู้ภัยมาจอดที่ของคนชั้นสูงด้วย