ศึกเลือกตั้ง 66 ดันความเชื่อมั่นผู้บริโภค สูงลิ่วรอบ 53 เดือน

กระทรวงพาณิชย์ เผย ศึกเลือกตั้ง 66 ดันความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เดือน พ.ค.66) สูงลิ่วรอบ 53 เดือน จากปัจจัยหนุนเศรษฐกิจฟื้น โดยเฉพาะท่องเที่ยว บรรเทาค่าไฟ ราคาน้ำมันลด

ผ่านการเลือกตั้ง 2566 ครบ 1 เดือนแบบพอดิบพอดี ในวันนี้ (14 มิ.ย.66) ตอนนี้อยู่ระหว่างรอ ‘คณะกรรมการการเลือกตั้ง’ (กกต.) รับรองผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 กว่า 14 ล้านเสียง ได้เดินเครื่องเข้าพบหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะด้านเศษฐกิจ เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุน

ด้าน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ในเดือน พ.ค.66 ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.6 ซึ่งอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 สูงสุดในรอบ 53 เดือน และปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.5 อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว มาตรการภาครัฐจากการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้ากลุ่มครัวเรือน ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง รวมถึงเป็นเดือนของการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสนใจมาก หากพิจารณาปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่น 9 ด้าน คือ เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก มาตรการของรัฐ สังคม/ความมั่นคง การเมือง/การเลือกตั้ง ภัยพิบัติ/โรคระบาด ราคาสินค้าเกษตร ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และอื่นๆ พบว่า ปัจจัยด้านการเมืองและการเลือกตั้งมีความสำคัญต่อความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เห็นได้จากในเดือน ม.ค.66 ประชาชนเลือกปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นเป็นด้านการเมืองและการเลือกตั้ง 5.7% ต่อมาปรับสูงขึ้นเป็น 7.8%, 9.2% และ 13.4% ในเดือน ก.พ., มี.ค. และ เม.ย.66 ตามลำดับ

สำหรับเดือน พ.ค.66 ที่เป็นช่วงของการเลือกตั้ง ปัจจัยด้านการเมืองปรับสูงขึ้นเป็น 19.9% หากวิเคราะห์ปัจจัยด้านการเมืองที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นจำแนกตามภูมิภาค ช่วงอายุ อาชีพ และรายได้ ของเดือน พ.ค.เทียบกับเดือน ม.ค.66 มีรายละเอียดดังนี้

เมื่อพิจารณาตามภูมิภาค พบว่า ประชาชนในพื้นที่

• ภาคกลาง ปรับเพิ่มจาก 5.2% เป็น 22%

• ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับเพิ่มจาก 6% เป็น 22%

• ภาคเหนือ ปรับเพิ่มจาก 6.1% เป็น 21.3%

• ภาคใต้ ปรับเพิ่มจาก 5.1% เป็น 18.3%

• กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับเพิ่มจาก 6.7% เป็น 17.1%

เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุ พบว่า ประชาชนที่มีอายุ

• ต่ำกว่า 20 ปี ปรับเพิ่มจาก 6.9% เป็น 14.5%

• อายุ 20-29 ปี ปรับเพิ่มจาก 7.1% เป็น 19%

• อายุ 30-39 ปี ปรับเพิ่มจาก 5.6% เป็น 19.1%

• อายุ 40-49 ปี ปรับเพิ่มจาก 4.9% เป็น 21.9%

• อายุ 50-59 ปี ปรับเพิ่มจาก 5.4% เป็น 18.5%

• ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ปรับเพิ่มจาก 6.2% เป็น 25.4%

เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอาชีพ พบว่า

• พนักงานเอกชน ปรับเพิ่มจาก 5.6% เป็น 26.1%

• ผู้ประกอบการ ปรับเพิ่มจาก 5.3% เป็น 20.3%

• รับจ้างอิสระ ปรับเพิ่มจาก 6.1% เป็น 19.6%

• พนักงานของรัฐ ปรับเพิ่มจาก 6.1% เป็น 18.3%

• ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ ปรับเพิ่มจาก 9.5% เป็น 18%

• นักศึกษา ปรับเพิ่มจาก 9% เป็น 14.8%

• เกษตรกร ปรับเพิ่มจาก 3.6% เป็น 11.2%

เมื่อพิจารณาตามรายได้ พบว่า ประชาชนที่มีรายได้

• ต่ำกว่า 5,000 บาท ปรับเพิ่มจาก 5.1% เป็น 14.9%

• รายได้ 5,000-10,000 บาท ปรับเพิ่มจาก 7% เป็น 18.5%

• รายได้ 10,001-20,000 บาท ปรับเพิ่มจาก 5.4% เป็น 17.9%

• รายได้ 20,001-30,000 บาท ปรับเพิ่มจาก 4.8% เป็น 23.7%

• รายได้ 30,001-40,000 บาท ปรับเพิ่มจาก 7.4% เป็น 25.9%

• รายได้ 40,001-50,000 บาท ปรับเพิ่มจาก 4.1% เป็น 26.4%

• รายได้ 50,001-100,000 บาท ปรับเพิ่มจาก 3.3% เป็น 24.8%

• รายได้ 100,000 บาทขึ้นไป ปรับเพิ่มจาก 5.9% เป็น 14.3%

ทั้งนี้ นายพูนพงษ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค.66 ที่จัดทำโดย สนค. ปรับเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคและกลุ่มอาชีพ สาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ รองลงมาเป็นกิจกรรมทางการเมืองและการเลือกตั้ง ที่มีสัดส่วนปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในเดือนนี้ หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การเมืองมีความชัดเจน น่าจะรักษาให้ระดับของความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในช่วงเชื่อมั่นได้อย่างต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องลุ้นกันต่อไปว่า กกต.จะรับรองผลการเลือกตั้ง 66 นี้ ออกมาอย่างไร และจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจหรือไม่

เศรษฐกิจไทยตุ้บแน่! หาก ‘พิธา’ หลุดนายกรัฐมนตรี ม็อบฮือ-นักลงทุนหนีหอการค้าไทย นัดถก ‘พิธา’ ปมขึ้นค่าแรง 450 บ. พรุ่งนี้ (31 พ.ค.66)
คลิปอีจันแนะนำ
“ช่อ พรรณิการ์” สรุปปมหุ้น iTV