เตือน 10 จังหวัด แบงก์ปลอมเกลื่อน ส่องในกระเป๋าด่วน ของจริงรึเปล่า

‘แบงก์ชาติ’ บอกวิธีส่องแบงก์ปลอม สัมผัส-ยกส่อง-พลิกเอียง หลังเจอระบาดหนัก 10 จังหวัดอีสาน ใครเจอแจ้งเบาะแสจับกุมได้ โทษหนักทั้งจำทั้งปรับ

ธนบัตรปลอม หรือ แบงก์ปลอม ระบาดหนักในหลายพื้นที่ โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ เผยว่า 10 จังหวัด ที่แบงก์ปลอมระบาดหนัก ได้แก่ 1.อุดรธานี 2.หนองบัวลำภู 3.เพชรบูรณ์ 4.ขอนแก่น 5.กาฬสินธุ์ 6.มุกดาหาร 7.ชัยภูมิ 8.มหาสารคาม 9.ร้อยเอ็ด และ 10.นครราชสีมา

ทั้งนี้ ‘แบงก์ชาติ’ ได้เตือนให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการรับธนบัตร และสังเกตก่อนรับทุกครั้ง จากวิธีสังเกตที่ง่ายที่สุดคือ แบงก์จริงต้องกลิ้งได้ เมื่อพลิกเอียงธนบัตร ลายดอกไม้สีทอง และแถบสีจะกลิ้ง เปลี่ยนสีได้

ทั้งนี้ จุดสังเกตทำง่ายๆ ด้วยวิธีการ สัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง และเพื่อความมั่นใจควรตรวจสอบอย่างน้อย 3 จุดขึ้นไป ดังนี้

1.สัมผัส

– กระดาษธนบัตร : ทำจากกระดาษที่มีใยฝ้ายเป็นส่วนประกอบหลัก จึงมีความแกร่ง ทนทาน และไม่ยุ่ยง่าย เมื่อจับสัมผัสจะให้ความรู้สึกแตกต่างจากกระดาษทั่วไป

– ลายพิมพ์เส้นนูน : เกิดจากการพิมพ์โดยใช้แม่พิมพ์ที่มีร่องหมึกลึกและใช้แรงกดพิมพ์สูง หมึกพิมพ์จึงนูนขึ้นมาจากเนื้อกระดาษ ภาพและลายเส้นที่ได้จึงมีรายละเอียดคมชัด ซึ่งใช้ในการพิมพ์พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ คำว่า “รัฐบาลไทย” ตัวอักษรและตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือจะรู้สึกสะดุด

2.ยกส่อง

– ลายน้ำ : เป็นส่วนหนึ่งในเนื้อกระดาษ เกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิตกระดาษโดยใช้กรรมวิธีพิเศษที่ทำให้เนื้อกระดาษมีความหนาบางไม่เท่ากันจนเกิดเป็นภาพตามต้องการ ลายน้ำในธนบัตรไทยเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อยกส่องกับแสงสว่างจะเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร

นอกจากนี้ ลายน้ำยังมีตัวเลขชนิดราคารูปลายไทยที่โปร่งแสงเป็นพิเศษ ภาพเงาพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีลักษณะคล้ายลายน้ำ มองเห็นได้ชัดเจนทั้งสองด้าน เมื่อยกธนบัตรส่องกับแสงสว่าง

– ช่องใส (ธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาท) : ช่องใสทรงหยดน้ำ มองเห็นทะลุได้ทั้งสองด้าน และมีตัวเลข ’20’ ขนาดเล็กดุนนูน ช่องใสทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และตัวเลขใส ’20’ ที่อยู่ด้านล่าง มองเห็นทะลุได้ทั้งสองด้าน มีการพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงจะเห็นเป็นสีเหลือบแดง และมีตัวเลข ’20’ สีทองอยู่ตรงกลางช่องใสทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

– ภาพซ้อนทับ : เกิดจากเครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ภาพทั้งสองด้านได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้ลวดลายที่ออกแบบไว้ในตำแหน่งตรงกันทั้งด้านหน้าและด้านหลังซ้อนทับกันสนิท หรือประกอบกันขึ้นเป็นลวดลายหรือภาพที่สมบูรณ์ สามารถสังเกตได้ด้วยการยกธนบัตรขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง

3.พลิกเอียง

– ตัวเลขแฝง : ตัวเลขแจ้งชนิดราคาซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์ มองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง

– หมึกพิมพ์ : ลายดอกประดิษฐ์ ชนิดราคา 500 บาท และ 1,000 บาท พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้ ภายในมีตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงหรือพลิกซ้ายขวา จะเห็นการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนสลับสี ส่วนชนิดราคา 100 บาท ลายดอกประดิษฐ์พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรไปมาจะเห็นเป็นประกาย

– แถบสี : เกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตกระดาษ โดยใช้กรรมวิธีพิเศษที่ฝังแถบพลาสติกขนาดเล็กเคลือบด้วยสีโลหะไว้ในเนื้อกระดาษตามแนวตั้ง และมีบางส่วนของแถบปรากฏให้เห็นเป็นระยะ จะเปลี่ยนสีเมื่อเปลี่ยนมุมมอง ภายในแถบมีตัวเลขและตัวอักษรแจ้งชนิดราคาขนาดเล็ก เมื่อยกธนบัตรส่องดูกับแสงสว่างจะมองเห็นอ่านได้ชัดเจน

– ลักษณะพิเศษภายใต้รังสีเหนือม่วง : พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษเรืองแสง เป็นหมึกพิมพ์ซึ่งสามารถมองเห็นการเรืองแสงเมื่ออยู่ภายใต้รังสีเหนือม่วง ลายประดิษฐ์บริเวณกลางธนบัตร ตัวเลขแจ้งชนิดราคา หมวดเลขหมายจะเรืองแสง และเส้นใยที่ฝังในเนื้อกระดาษจะเรืองแสงเป็นสีเหลือง แดง และน้ำเงิน

ทั้งนี้ ถ้าเจอแบงก์ปลอม ต้องให้รีบแจ้งความ โดยตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นแบงก์ปลอม โดยเฉพาะแบงก์ที่มีราคาสูง จากนั้นแยกออกจากแบงก์จริง แล้วเขียนว่า ‘ปลอม’และห้ามนำไปใช้จ่ายอีกโดยเด็ดขาด ถัดมา ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อขึ้นบัญชีเป็น ‘ธนบัตรปลอม’ ขณะเดียวกัน หากจำได้ว่าใครเป็นผู้นำมาใช้ ควรจดจำรูปพรรณสัณฐานให้ดี เพื่อใช้ในการเป็นเบาะแสจับกุม และยืนยันความบริสุทธิ์ให้ตัวเอง

บทลงโทษที่เกี่ยวกับแบงก์ปลอม

1.บทลงโทษสำหรับผู้ปลอมแปลงเงินตรา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 ระบุว่ามีโทษจำคุก 10-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 200,000-400,000 บาท

2.บทลงโทษสำหรับผู้มีเงินปลอมในครอบครองและนำออกมาใช้จ่าย ‘โดยตั้งใจ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 ระบุว่ามีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-300,000 บาท

3.บทลงโทษสำหรับผู้มีเงินปลอมโดยไม่ตั้งใจ แต่กลับนำออกมาใช้จ่ายหลังจากตรวจสอบแล้วว่าเป็นแบงก์ปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 245 ระบุว่ามีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.บทลงโทษสำหรับผู้ผลิตเครื่องมือปลอมแปลงเงินตรา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 246 จำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท

แบงก์ชาติ เตือน ก่อนกู้ออนไลน์ต้องทำ 3 สิ่งนี้ ไม่งั้นสูญเงินแน่แบงก์ชาติ เตือน อย่าเชื่อ! มิจฉาชีพ ปลอมเอกสารปล่อยกู้
คลิปอีจันแนะนำ
น่าอาย ! จนท.รัฐ ทำเอง อมเงินหลวง ไปเล่นพนัน