ทำงาน กทม.พอใช้ไหม? ค่าแรงขั้นต่ำใหม่ ขึ้น 10 บาท เป็น 363 บาท/วัน

อยู่ยาก! ค่าแรงขั้นต่ำใหม่ เคาะแล้ว ‘ภูเก็ต’ ขึ้นมากสุด 16 บาท เป็น 370 บาท/วัน ส่วน ‘กทม.’ ขึ้น 10 บาท เป็น 363 บาท/วัน มีผล 1 ม.ค.67

การประชุมคณะกรรมการกำหนดค่าจ้าง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “บอร์ดค่าจ้าง” ชุดที่ 22 จัดขึ้นเพื่อพิจารณาการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับปี 66 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เป็นประธานในการประชุมนี้ ผลปรากฎว่า ที่ประชุมเห็นชอบปรับขึ้น จำนวน 77 จังหวัด ได้แก่

  1. จังหวัดภูเก็ต อัตราค่าจ้าง 370 บาท

  2. กลุ่มจังหวัดภาคกลางและปริมณฑล (รวมกรุงเทพมหานคร) มี 6 จังหวัด อัตราค่าจ้าง 363 บาท ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

  3. จังหวัดชลบุรี และระยอง อัตราค่าจ้าง 361 บาท

  4. จังหวัดนครราชสีมา อัตราค่าจ้าง 352 บาท

  5. จังหวัดสมุทรสงคราม อัตราค่าจ้าง 351 บาท

  6. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ขอนแก่น และเชียงใหม่ อัตราค่าจ้าง 350 บาท

  7. จังหวัดลพบุรี อัตราค่าจ้าง 349 บาท

  8. จังหวัดสุพรรณบุรี นครนายก และหนองคาย อัตราค่าจ้าง 348 บาท

  9. จังหวัดกระบี่ และตราด อัตราค่าจ้าง 347 บาท

  10. จังหวัดกาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา พังงา จันทบุรี สระแก้ว นครพนม มุกดาหาร สกลนคร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ตาก พิษณุโลก อัตราค่าจ้าง 345 บาท

  11. จังหวัดเพชรบุรี ชุมพร สุรินทร์ อัตราค่าจ้าง 344 บาท

  12. จังหวัดยโสธร ลำพูน นครสวรรค์ อัตราค่าจ้าง 343 บาท

  13. จังหวัดนครศรีธรรมราช บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และเพชรบูรณ์ อัตราค่าจ้าง 342 บาท

  14. จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี พัทลุง ชัยภูมิ และอ่างทอง อัตราค่าจ้าง 341 บาท

  15. จังหวัดระนอง สตูล เลย  หนองบัวลำภู อุดรธานี มหาสารคาม ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี และราชบุรี  อัตราค่าจ้าง 340 บาท

  16. จังหวัดตรัง น่าน พะเยา แพร่ อัตราค่าจ้าง 338 บาท

  17. จังหวัดนราธิวาส  ปัตตานี และยะลา อัตราค่าจ้าง 330 บาท

นายไพโรจน์ กล่าวว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในปี 67 มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่  345 บาท/วัน โดยที่ประชุมได้พิจารณากำหนดบนพื้นฐานของความเสมอภาคและการหารือของแต่ละจังหวัด และการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นการปรับ เพื่อให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น โดยพิจารณาบนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน เสนอเข้าที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.66 นี้  เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว และให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม นายชัย​ วัชรงค์​ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ กล่าวภายหลังการประชุม ครม. ว่า นายพิพัฒน์​ รัช​กิจ​ประการ​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ถึงแม้ค่าจ้างขั้นต่ำนี้ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติกรรมการไตรภาคีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67​ แต่วันที่ 17 ม.ค.67​ จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการไตรภาคีอีกครั้ง เพื่อแต่งตั้งอนุกรรมการ ขึ้นมาพิจารณา รายละเอียดของค่าจ้างขั้นต่ำ โดยต้องลงลึกในรายละเอียดทุกสาขาอาชีพ

โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อยากได้ตัวแทนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กระทรวงพาณิชย์​ กระทรวงการท่องเที่ยว​ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ​ เข้าพิจารณาลงลึกในรายละเอียดของค่าแรงขั้นต่ำ ในแต่ละสาขาที่ต่างๆ จะต้องปฏิรูปให้มากขึ้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้คำมั่นที่ประชุมครม.ว่า การตั้งอนุกรรมการชุดพิเศษขึ้นมานี้ จะนำไปสู่ข้อสรุป เพื่อเสนอค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ ไม่เกินสิ้นเดือน มี.ค.67