บัญชีเงินฝากมีกี่แบบ แล้วแตกต่างกันอย่างไร ?

บัญชีเงินฝากมีหลายประเภท แต่ละประเภทมีข้อกำหนด และผลตอบแทนที่แตกต่างกัน เราควรรู้ถึงเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้การฝากเงินได้ผลตอบแทนตรงตามเป้าหมายที่วางไว้

บัญชีเงินฝากแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ และเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งสถาบันการเงิน และธนาคารแต่ละแห่งอาจจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันแต่โดยปกติจะมีลักษณะพื้นฐานดังนี้

1. บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (Savings Account)

เป็นบัญชีที่มักไม่กำหนดระยะเวลาและจำนวนครั้งในการฝากถอน มักใช้ร่วมกับบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต และสามารถใช้หักบัญชีอัตโนมัติเพื่อชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

บัญชีประเภทนี้มักกำหนดเงินฝากขั้นต่ำไว้ไม่สูงนัก แต่ผลตอบแทน (อัตราดอกเบี้ย) ค่อนข้างต่ำ และคิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน ดังนั้นบัญชีประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินในระยะสั้น มีสภาพคล่องเผื่อไว้กรณีต้องทยอยถอนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน ใช้ทำรายการผ่านบัญชีธนาคาร เช่น รับโอนเงินเดือนและชำระค่าสาธารณูปโภค

คำแนะนำ

1. ควรปรับสมุดบัญชีและตรวจสอบความถูกต้องของรายการธุรกรรมที่เกิดขึ้นในบัญชีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต และหากพบว่ามีรายการที่ไม่ถูกต้องก็ให้รีบติดต่อธนาคารเพื่อขอตรวจสอบและแก้ไขโดยด่วน

2. ควรศึกษาเงื่อนไขของแต่ละประเภทบัญชีให้ละเอียดก่อนเลือกใช้บริการ เนื่องจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์บางประเภทอาจกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมโดยเฉพาะจำนวนครั้งที่ผู้ฝากจะถอนได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม เช่น กรณีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าแบบธรรมดา อาจกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าค่าธรรมเนียมการถอนฟรี 2 รายการแรกต่อเดือน รายการต่อไปเสียค่าธรรมเนียม 500 บาทต่อรายการ

3. ควรเลือกเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เท่าที่จำเป็นต้องใช้ เพราะหากมีหลายบัญชีเกินความจำเป็นและไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ เช่น บัญชีที่ไม่เคลื่อนไหวเกินเวลาหรือมียอดเงินคงเหลือในบัญชีต่ำกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด จะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี นอกจากนั้น ธนาคารมักแนะนำให้ลูกค้าที่เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตควบคู่ด้วยเพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรม เช่น ถอนหรือโอนเงิน แต่ที่จริงแล้วเรายังคงสามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์โดยไม่จำเป็นต้องทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต เพราะเมื่อเราตกลงทำบัตรเราก็จะมีภาระที่ต้องจ่าย ซึ่งจะมีทั้งค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปีของบัตรด้วย โดยแต่ละธนาคารจะกำหนดไว้แตกต่างกัน ดังนั้น หากเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้หรือมีบัตรอยู่แล้ว เราก็มีสิทธิปฏิเสธที่จะไม่ทำบัตร

2. บัญชีเงินฝากประจำ (fixed deposit account)

มีกำหนดระยะเวลาการฝากถอนที่แน่นอน เช่น 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี และมีการจูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากแบบออมทรัพย์ธรรมดา โดยธนาคารจะสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์หรือลงทุนได้ตามระยะเวลาการรับฝาก โดยไม่ต้องสำรองไว้เหมือนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เนื่องจากหากผู้ฝากต้องการได้รับดอกเบี้ยตามเงื่อนไข ก็จะต้องไม่ถอนเงินออกจากบัญชีนี้ก่อนกำหนด คือ จะไม่สามารถใช้เงินจำนวนที่ฝากประจำอยู่ในระยะเวลาหนึ่งได้

บัญชีประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีเงินแต่ยังไม่ต้องการใช้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (เงินเย็น) หรือต้องการออมเงินระยะยาวและหวังผลตอบแทนในรูปแบบอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์

ประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากประจำ

1. หากถอนก่อนครบกำหนดก็อาจได้รับดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราที่สถาบันการเงินประกาศไว้

2. การนับวันครบกำหนดระยะเวลาการฝากประจำ โดยทั่วไปจะตรงกับวันที่เดียวกันแต่เป็นเดือนถัด ๆ ไป เช่น ถ้าเริ่มฝากประจำ 3 เดือนวันที่ 5 มกราคม ก็จะครบกำหนดวันที่ 5 เมษายน

3. ธนาคารบางแห่งจะกำหนดให้ผู้ฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำเปิดบัญชีออมทรัพย์ด้วย เพื่อที่ธนาคารจะโอนดอกเบี้ยเข้าไปในบัญชีออมทรัพย์อัตโนมัติเมื่อครบกำหนดการจ่ายดอกเบี้ย หรืออาจโอนเงินต้นเข้าไปด้วยเมื่อครบกำหนดระยะเวลา

3. บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน (current account)

บัญชีประเภทนี้ถือว่าเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการเงินของบริษัทหรือร้านค้า เพราะสามารถใช้เช็คในการเบิกจ่ายเงินได้ ช่วยลดปริมาณเงินสดที่บริษัทหรือร้านค้าต้องเก็บไว้ เพื่อใช้ชำระเงินค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังสามารถขอใช้วงเงินเบิกเกินบัญชี (overdraft) หรือที่เรียกว่าเงิน O/D ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในกรณีเงินขาดบัญชีและช่วยลดปัญหาเช็คเด้งได้ โดยต้องเสียดอกเบี้ยเฉพาะเงินส่วนที่เบิกเกินบัญชีตามระยะเวลาที่เบิกเกินบัญชี บัญชีประเภทนี้ไม่มีสมุดคู่ฝาก แต่สถาบันการเงินจะจัดส่งสเตทเมนท์ (statement) ทางไปรษณีย์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแจ้งยอดเคลื่อนไหวของบัญชีให้ลูกค้าทราบ และโดยทั่วไปมักไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้บัญชีเงินฝากประเภทนี้

คำแนะนำ

1. ก่อนเลือกเปิดบัญชีกระแสรายวันควรพิจารณารายละเอียดปลีกย่อยและข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างละเอียด เช่น จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ เงื่อนไขการใช้วงเงิน O/D หรือบางแห่งสามารถใช้ร่วมกับบัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิตได้ด้วย ซึ่งอาจเป็นทางเลือกในการเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารจัดการเงิน

2. ในการใช้เช็คจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าซื้อเช็ค และอาจมีความเสี่ยงต่อการสูญหาย เช่น การส่งเช็คไปชำระเงินผ่านช่องทางไปรษณีย์ ถ้ามีการสูญหายระหว่างทางเจ้าขอ’บัญชีต้องรีบแจ้งธนาคารเพื่ออายัดเช็คดังกล่าว และต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการสั่งจ่ายเช็คให้แก่ลูกค้าก็ควรเก็บหลักฐานประกอบการสั่งจ่าย รวมทั้งต้นขั้วเช็ค ซึ่งต้องระบุว่าสั่งจ่ายให้ใคร เป็นค่าใช้จ่ายอะไร จำนวนเท่าไร เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบกับ statement และการทำบัญชีรายรับรายจ่ายด้วย และหากคุณไม่ได้ใช้วงเงิน O/D ก็ควรเตรียมเงินในบัญชีให้เพียงพอสำหรับการชำระเงินตามวันที่ระบุในเช็คด้วย เนื่องจากปัจจุบันการเรียกเก็บเงินตามเช็คเปลี่ยนมาใช้ระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็ค หรือ ICAS ซึ่งจะช่วยให้การเรียกเก็บเงินเร็วขึ้นกว่าเดิม หากเงินในบัญชีมีไม่เพียงพออาจทำให้เช็คเด้งและมีผลต่อความน่าเชื่อถือของเราในฐานะผู้สั่งจ่ายด้วย

นอกจากบัญชีเงินฝากหลัก 3 ประเภทนี้แล้วยังมีบัญชีประเภทอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น

1. บัญชีเงินฝากประจำรายเดือนแบบปลอดภาษี

เป็นบัญชีเงินฝากประจำที่ได้รับการยกเว้นภาษี แต่ต้องฝากเงินทุก ๆ เดือนเป็นจำนวนเท่ากันตลอดอายุสัญญา ซึ่งระยะเวลาอาจกำหนดไว้แตกต่างกันในแต่ละธนาคาร เช่น 24 เดือน 36 เดือนและมักกำหนดจำนวนเงินฝากขั้นต่ำไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ดังนั้น คนที่อยากเปิดบัญชีเงินฝากประเภทนี้ควรมีรายได้ประจำ และสามารถนำเงินเข้าบัญชีได้อย่างสม่ำเสมอ โดยแต่ละคนมีสิทธิเปิดบัญชีเงินฝากประเภทนี้ได้เพียงคนละ 1 บัญชีเท่านั้น ซึ่งหากเลือกเปิดบัญชีกับธนาคารใดแล้วจะเปิดกับธนาคารอื่นหรือธนาคารเดียวกันอีกไม่ได้ เรียกว่า 1 คน 1 สิทธิอย่างเท่าเทียมกัน เพราะหากสรรพากรตรวจพบว่ามีการเปิดมากกว่า 1 บัญชี เราจะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีดังกล่าวเลย ดังนั้น จึงควรเลือกเปิดบัญชีกับธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูง และข้อสำคัญต้องคำนึงถึงความสะดวกในการนำเงินเข้าบัญชีด้วย เพราะถ้าขาดฝากเกินกว่าจำนวนครั้งที่กำหนดซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ไม่เกิน 2 ครั้ง ก็จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ธนาคารประกาศ หรือได้รับเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ หรืออาจต้องเสียภาษี 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ ซึ่งเงื่อนไขของแต่ละธนาคารจะแตกต่างกัน จึงควรศึกษาเงื่อนไขอย่างรอบคอบเพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิที่พึงจะได้รับจากการฝากเงินประเภทนี้

2. บัญชีเงินฝากแบบขั้นบันได (step-up account)

บัญชีเงินฝากแบบขั้นบันไดจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันเป็นช่วง ๆ เช่น ให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนขั้นบันไดและโฆษณาจูงใจว่าได้รับผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยสูงแต่มักเป็นเพียงช่วงเดือนสุดท้ายเท่านั้น หากคิดจะฝากต้องดูที่อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงต่อปีของทั้งโครงการ ซึ่งสถาบันการเงินต้องแจ้งให้เราทราบด้วยเพราะข้อมูลและการเปรียบเทียบดอกเบี้ยและผลตอบแทนที่แท้จริงต่อปีของทั้งโครงการของแต่ละธนาคารที่มีบริการบัญชีประเภทนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเลือกฝากเงินของเราที่ตรงกับความต้องการของเราได้

3. บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ

เป็นบัญชีเงินฝากที่เหมาะกับผู้ที่มีรายรับหรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ สามารถใช้เงินในบัญชีมาทำธุรกรรมทางการเงินได้เลยโดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินบ่อย ๆ ซึ่งลูกค้าสามารถเปิดได้ทั้งบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ และเงินฝากกระแสรายวัน โดยดอกเบี้ยรับที่ได้จะต้องเสียภาษีด้วย อย่างไรก็ตาม การฝากเงินเป็นเงินตราต่างประเทศจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และค่าบริการในการทำธุรกรรมสำหรับบัญชีประเภทนี้อาจจะสูงกว่าดอกเบี้ยที่ได้รับ

ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย