ลอยกระทง อย่าทิ้งทุกข์ให้แม่น้ำ กระทงอาหารปลา ปลาไม่กิน แถมทำน้ำเน่า

เลือกให้ดี ลอยกระทงไม่ลอยทุกข์ ลอยกระทง อย่าทิ้งทุกข์ให้แม่น้ำ กระทงอาหารปลา ปลาไม่กิน แถมทำน้ำเน่า

หลังจากเมื่อวาน หลายคนออกไปลอยกระทง เพื่อขอขมาแม่น้ำคงคา และแน่นอน แม่ค้าพ่อค้า ต่างมีกระทงหลากหลายแบบมาขาย ทั้งกระทงใบตอง กระทงขนมปัง หรือจะเป็นกระทงอาหารปลา แต่ไม่ว่าจะเป็นกระทงแบบไหน ก็ทำให้เกิดเอฟเฟคกับแม่น้ำ เพราะต้องใช้เวลาย่อยสลาย

แม้แต่กระทงอาหารปลา ที่เราคิดว่า น่าจะดีที่สุดแล้ว แต่ที่จริงแล้ว ไม่ใช่เลย เพราะก่อนหน้านี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ถึงกระแสรณรงค์การทำ ‘กระทงอาหารปลา’ ว่า ไม่ควรลอยกระทงดังกล่าว เพราะไม่ต่างจากกระทงขนมปัง เนื่องจากขนมปังและอาหารปลา เมื่อทิ้งลงไปในน้ำ เป็นสารอินทรีย์ที่จะสลายตัวและละลายค่อนข้างง่าย ซึ่งถ้าแหล่งน้ำนั้น ไม่ได้มีปลาเยอะมาก จนกินหมดเกลี้ยงทุกกระทง ปัญหาจะเกิดขึ้นตามมากับคุณภาพของน้ำบริเวณนั้น โดยเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำจะได้เอาสารอินทรีย์จากกระทงพวกนี้มาเป็นอาหาร และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการดึงออกซิเจนในน้ำไปใช้

“ถ้าทำการตรวจสอบด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ จะเห็นชัดเจนว่าปริมาณของออกซิเจนที่ละลายน้ำหรือค่า DO นั้น จะลดลง ขณะที่ค่า BOD จะสูงขึ้นมาก แสดงให้เห็นถึงการเน่าเสียของน้ำ”

อ.เจษฎา ระบุเตือนทิ้งท้ายว่า หลายปีที่ผ่านมามีหลายแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นสระปิดและจัดงานลอยกระทง เช่น ตามหน่วยราชการต่างๆ พบว่าหลังคืนลอยกระทงไปแล้ว เกิดการเน่าเสียของน้ำ มีปลาขึ้นมาลอยตาย จากการลอยกระทงขนมปังกันเยอะและปลากินไม่หมด สรุปว่า ถ้าไม่จำเป็น ถ้าไม่มั่นใจจริงว่าบริเวณที่ไปลอยจะมีปลาอยู่เยอะมาก จนกินอาหารปลาหมดทุกกระทงจริงๆ ก็อย่าลอยกระทงแบบนี้เลย

เอาเป็นว่า ใครที่จะลอยกระทงปีต่อๆไป เลือกกระทง ที่ไม่ทิ้งทุกข์ให้แม่น้ำคงคานะคะ หรือแค่ไปขอขมาเป็นพิธี ไม่ลอยก็ได้