4 เทคนิควิธีลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา ทำอย่างไรได้บ้าง

ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่รัฐกำหนด จำเป็นต้องเสียภาษีประจำปีทุกคน ยิ่งมีรายได้มาก ฐานการเสียภาษีก็มากตามด้วย การวางแผนการใช้เงินจึงจำเป็น ถ้าหากคุณไม่อยากเสียภาษีก้อนโตในทุก ๆ ปี

ประเทศไทยมีเกณฑ์เสียภาษีแบบขั้นบันได โดยแบ่งอัตราตามนี้

● ยอดรายได้รวมต่ำกว่า 150,000 บาท/ปี ต้องเสียภาษี 0% หรือก็คือได้รับการงดเว้นไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง

● ยอดรายได้รวมตั้งแต่ 150,001 ถึง 300,000 บาท/ปี ต้องเสียภาษี 5% ของจำนวนรายได้

● ยอดรายได้รวมตั้งแต่ 300,001 ถึง 500,000 บาท/ปี ต้องเสียภาษี 10% ของจำนวนรายได้

● ยอดรายได้รวมตั้งแต่ 500,001 ถึง 750,000 บาท/ปี ต้องเสียภาษี 15% ของจำนวนรายได้

● ยอดรายได้รวมตั้งแต่ 750,001 ถึง 1,000,000 บาท/ปี ต้องเสียภาษี 20% ของจำนวนรายได้

● ยอดรายได้รวมตั้งแต่ 1,000,0001 ถึง 2,000,000 บาท/ปี ต้องเสียภาษี 25% ของจำนวนรายได้

● ยอดรายได้รวมตั้งแต่ 2,000,0001 ถึง 5,000,000 บาท/ปี ต้องเสียภาษี 30% ของจำนวนรายได้

● ยอดรายได้รวม 5,000,000 บาทขึ้นไป/ปี ต้องเสียภาษี 35% ของจำนวนรายได้

สำหรับบุคคลที่ต้องเสียภาษี สามารถลดหย่อนได้จากค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้

1. ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและครอบครัว

คุณสามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่าใช้จ่ายในครอบครัวมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ เช่น ค่าดูแลบุพการี หรือค่าดูแลบุตร ดังนี้

● ค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท

● ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท เมื่อคู่สมรสไม่มีรายได้

● ค่าลดหย่อนฝากครรภ์ และคลอดบุตร ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท

● ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท

● ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดา-มารดาของตน และบิดา-มารดาของคู่สมรส คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน

● ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการ หรือบุคคลทุพพลภาพ คนละ 60,000 บ

2. ค่าใช้จ่ายในการซื้อประกัน กองทุน และการลงทุน

อีกหนึ่งวิธีลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นที่นิยมมากก็คือ การซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ รวมถึงกองทุนอย่างกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามรายการดังนี้

หมวดประกัน

● เงินประกันสังคม ไม่เกิน 6,300 บาท

● เบี้ยประกันชีวิต และประกันแบบสะสมทรัพย์ที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 100,000 บาท

● เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ไม่เกิน 25,000 บาท

● เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ไม่เกิน 15,000 บาท

● เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 200,000 บาท

หมวดกองทุน การออม และการลงทุน

● กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

● กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

● กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

● กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท

● เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

3. ค่าใช้จ่ายกลุ่มเงินบริจาค

การบริจาคให้แก่หน่วยงานการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ รวมถึงพรรคการเมืองนั้น ก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ดังนี้

● เงินบริจาคทั่วไป เช่น บริจาคให้วัดและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษีแล้ว

● เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษีแล้ว

● เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

4. ค่าใช้จ่ายในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

รายจ่ายกลุ่มสุดท้ายที่สามารถนำมาใช้เพื่อลดหย่อนภาษีได้ก็คือ การใช้จ่ายที่อยู่ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย หรือโครงการช้อปดีมีคืน (ทั้งนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี) โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ดังนี้

● ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย หรือค่าดอกเบี้ยที่จ่ายเพื่อผ่อนซื้อบ้าน หรือคอนโด สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทตามที่จ่ายจริง

● การซื้อสินค้า หรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รวมถึงสินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือ และ E-Book ในช่วงเวลาโครงการ สามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาท