พันธมิตรบุญ หาบขนมจีน 4 ภาค ไข่ต้ม 500 ฟอง ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ฯ

สาธุดังก้องใจ อีจันร่วมร่วมขบวนบุญ หาบขนมจีน-ไข่ ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ฯ- พระพรหมดิลกได้รับสมณศักดิ์กลับคืน

บุญหมั่นสร้าง วัดหมั่นเข้า ปฏิบัติดี ไม่คิดร้าย ชีวิตจะมีเเต่สิ่งดีๆ จันเชื่อแบบนั้นเสมอมา

เเละวันนี้ 11 เม.ย. 2566 ก็เป็นอีกการมาสร้างบุญของจันเเละทีมค่ะ โดยบุญวันนี้ จันได้รับการบอกบุญจาก พี่เหมียวเพื่อนอีจัน คุณฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทยเเละพันธมิตร

โดยวันนี้ทางพันธมิตรบุญ ได้จัดขบวนแต่งชุดไทยไปหาบขนมจีน 4 ภาค ถือเป็นโอกาสทำบุญสงกรานต์

เหล่ากัลยาณมิตรจะได้ร่วมกัน

มีขบวนเเห่หาบขนมจีน 4 ภาค ไข่ต้ม ผลไม้และ ดอกไม้ สักการะบูชา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดสามพระยา เจริญพระพุทธมนต์

ก่อนที่จะมีการถวายภัตตาหารเพล สรงน้ำในโอกาสวันปีใหม่ไทย แก่พระเดชพระคุณ พระพรหมดิลก ผู้เป็นที่เคารพนับถืออย่างสูง

สมาคมภัตตาคารไทยและพันธมิตร จัดขบวนแต่งชุดไทยหาบขนมจีน 4 ภาค และไข่ต้ม 500 ฟอง ณ วัดสามพระยา โดยการนำของฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย

1. ขนมจีนอีสาน ส้มตำคุณกัญจณ์

2. ขนมจีนน้ำเงี้ยว ยิบอินซอย

3.ขนมจีนซาวน้ำ ครัวริมน้ำท้ายเกาะ

4. ขนมจีนน้ำยา ครัวคุณกุ้ง

🔴ไข่ต้ม 500 ฟองจากสมาคมภัตตาคารไทย

– อาหารทะเลจากวังมุข

– ผัดไทยกุ้งสดชมรมร้านอาหารจังหวัดปทุมธานี

– ข้าวเหนียวถั่วดำจากมีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับ

– หาบผัก ผลไม้ สวยงามจากทีมเปี๊ยก-ขวัญ และชาวตลาดไท

หลังจากเสร็จพิธีภวายเเล้ว ทางวัดยังมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดสามพระยา พระพุทธเกสร (พระประธาน) พระนอน พระนั่ง ณ ลานหน้า พระอุโบสถ วัดสามพระยา

ซึ่งเป็นการทำบุญในเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทย ในวัดเก่าแก่แต่โบราณ เพี่อความเป็นสิริมงคลรวมทั้งการบนบานแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดสามพระยา ที่ได้รับการเล่าขาน ด้วยการถวายหาบขนมจีนและไข่ต้มในการที่พระพรหมดิลกได้รับสมณศักดิ์กลับคืน

ส่วนเรื่องราวที่เล่าขานความน่าเลื่อมใส ของวัดสามพระยาซอยสามเสน 5 เป็นที่ตั้งของ “วัดสามพระยาวรวิหาร” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยหลวงวิสุทธิ์ โยธามาตย์ (ตรุษ) ขุนนางเชื้อสายมอญ พร้อมด้วยวงศาคณาญาติได้ร่วมใจกันยกที่ดินพร้อมทั้งบ้านเรือน บริเวณเหนือปากคลองบางลำพูของขุนพรหม (สารท) ผู้เป็นน้องชาย ซึ่งเคยเป็นนายช่างร่วมควบคุมการก่อสร้างพระมณฑปพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี ตามพระบรมราชโองการในรัชกาลที่ 1 และได้เสียชีวิตลงด้วยไข้ป่า อุทิศถวายเป็นวัดเพื่อเป็นผลบุญและเป็นอนุสรณ์แก่ขุนพรหม (สารท) แล้วตั้งชื่อว่า “วัดบางขุนพรหม” จนมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 วัดบางขุนพรหมแห่งนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก ด้วยสร้างมาเป็นระยะเวลายาวนาน กอรปด้วยขุนพรหม (สารท) ไม่มีทายาทสืบสกุลพระยาราชสุภาวดี (ขุนทอง), พระยาราชนิกุล (ทองคำ) และพระยาเทพอรชุน (ทองห่อ) ซึ่งเป็นบุตรของนางพวา น้องสาวคนสุดท้องของหลวงวิสุทธิโยธามาตย์ (ตรุษ) และขุนพรหม (สารท) หลานทั้ง 3 คน จึงพร้อมใจกันปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหมจนสำเร็จบริบูรณ์ แล้วน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตร เห็นว่าวัดบางขุนพรหมที่ปฏิสังขรณ์ใหม่ ก่อสร้างได้อย่างแข็งแรงงดงาม จึงโปรดเกล้าฯ รับขึ้นไว้ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อพระอารามหลวงในปี พ.ศ.2366 พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสามพระยาวรวิหาร”

– พระอุโบสถ มีสถาปัตยกรรมแบบจีนที่สวยงาม เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังคาลด 2 ชั้น มีการตกแต่งทั้งภายในและภายนอกอย่างสวยงาม ภายในพระอุโบสถ จะเห็นสีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สะดุดตาด้วยสีที่สวยงาม

– พระประธาน ตั้งอยู่ภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นามว่า “พระพุทธเกสร” เป็นพระพุทธรูปปิดทองปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ประทับบนรัตนบัลลังก์ มีความเชื่อว่าหากใครได้ไปกราบไหว้จะทำให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า

– หลวงพ่อนั่ง เป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ โดยพระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรวางอยู่บนเพลา ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าพระนั่งอุ้มบาตร ใครได้กราบไหว้ เชื่อกันว่าจะมั่งมีเงินทอง ร่ำรวย

– หลวงพ่อนอน พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่ในวิหารอันสวยงาม ใครได้กราบไหว้จะทำให้ชีวิตสงบสุข

– พระเจดีย์ใหญ่ มีลักษณะสถาปัตยกรรมทรงลังกา มีทั้งหมด 2 องค์ ตั้งอยู่บริเวณลายพระอุโบสถ

– พระเจดีย์ ประกอบด้วยเจดีย์ทั้งหมด 25 องค์ มีลักษณะก่ออิฐถือปูน ทรงเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่ทั้งภายในกำแพงเขตพุทธาวาส และภายนอกกำแพงด้านขวาของพระวิหาร

– พระปรางค์ มีทั้งหมด 5 องค์ ตั้งอยู่บริเวณรอบพระวิหาร มีลักษณะเป็นทรงสีเหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ

– หอระฆัง ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของพระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น หลังคาทรงจัตุรมุข มีเครื่องยอดอยู่ด้านบนและมีบันไดขึ้น-ลง

ซึ่งในวันที่ 18 มีนาคม 2566 อันเป็นวันมหาสังฆปีติ ของคณะสงฆ์วัดสามพระยา ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า ตามที่พระพรหมดิลก (เอื้อน กลิ่นสาลี) ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา และได้มีพระบรมราชโองการถอดถอนสมณศักดิ์ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2561 นั้น

บัดนี้ คดีถึงที่สุดแล้ว โดยพฤติการณ์ถือได้ว่าไม่ใช่ความผิดอุกฉกรรจ์ หรือความผิด ร้ายแรง หรือเป็นผู้ร้ายสำคัญ ประกอบกับไม่มีการกล่าวคำลาสิกขา และไม่มีการดำเนินการให้สละสมณเพศ ทั้งปรากฏ ข้อเท็จจริงว่า ยังคงดำรงตนอย่างพระภิกษุโดยตลอดระหว่างถูกคุมขัง จึงมีสภาวะเป็นพระภิกษุ มีสถานะเป็นพระมหาเอื้อน หาสธัมโม (เปรียญธรรม ๙ ประโยค) ซึ่งมหาเถรสมาคมมีมติรับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566

ทั้งนี้ให้ถือว่าไม่เคยถูกถอดถอนสมณศักดิ์และราชทินนามมาก่อนในการนี้ นายอินทพร จั่นเอี่ยม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง และเจ้าพนักงานอาลักษณ์ กองประกาศิต ได้เชิญหิรัญบัฏ พัดยศ และเครื่องประกอบสมณศักดิ์รองสมเด็จพระราชาคณะมาถวายคืนแด่พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.๙) ณ พระอุโบสถวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

คณะสงฆ์วัดสามพระยา ขอน้อมถวายพระพรชัยมงคล แด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ขอพระองค์ พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงเจริญพระชนมายุยืนนาน ทรงพระเกษมสําราญสมบูรณ์ด้วยพระอนามัย ทรงพระเจริญด้วยพระราชอิสริยยศเดชานุภาพ ขอจงทอดพระเนตรเห็นแต่กิจการอันเจริญเป็นนิตยกาล และขอพระองค์จงเสด็จสถิตยืนนานในพระราชมไหศวรรยาธิปัตย์ ปกครองรัชสีมามณฑลให้สมบูรณ์สมพระราชประสงค์จงทุกประการ เทอญ

การได้มาร่วมในพิธีครั้งนี้ถือเป็นบุญของทีมอีจัน เเละขอให้ผลบุญกุศลนี้ เเผ่ออกไปให้ไกลถึงลูกเพจอีจันทุกคนด้วยเทอญ