13 ชีวิต เก็บของเก่าขาย แลกที่อยู่ : ครอบครัววิยะดา นราธิวาส

ครอบครัววิยะดา 7 ชีวิต คือเด็ก 1 ชีวิต คือคนชราป่วย อีก 5 ชีวิต ดิ้นรน เก็บของเก่า ขาย แลกที่อยู่ แลกอาหาร เพื่อความอยู่รอด 13 ชีวิต : นราธิวาส

ขยะ! ความหมายของคำนี้ คงเป็นของไร้ค่าที่ต้องทิ้ง

แต่สำหรับครอบครัว วิยะดา เขาเปรียบความหมายของขยะ คือ ชีวิต

หัวหน้าสรัญรัฐ กีรติวิโรจน์กุล หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนราธิวาส พา อีจัน ไปหาครอบครัวของ ป้าวิยะดา หญิง วัย 50 ปลาย 1 ในกำลังสำคัญของครอบครัวใหญ่ ที่อยู่ร่วมกัน 13 คน ในอำเภอสุไหงโกลก

7 คนคือเด็กวัยเรียน 1 คนคือคนชราป่วยอัมพฤกษ์ อีก 5 ชีวิต ไม่มีต้นทุนชีวิตไม่ได้ศึกษา จึงต้องดิ้นรนเพื่อสู้ชีวิต

ครอบครัวนี้ยึดอาชีพ เก็บของเก่าขาย เเละรับจ้างทั่วไป ใครจ้างทำอะไรทำหมดทุกอย่าง

ช่วยกัน 5 แรงก็ยังพอประทังชีวิตให้พ้นไปแต่ละเดือนได้บ้าง แต่…โควิดมา กระทบยันคนเก็บขยะขายอย่างครอบครัวเธอ

“ขยะที่ขายได้ หายากขึ้น งานรับจ้างหาย แม้เเต่คนรวยก็ไม่มีเงินจ้าง

ตอนนี้ ต้องกินกันตามมีตามเกิด เพราะบ้านยังต้องเช่าอยู่ ไม่มีที่ดิน ที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง”

ป้าวิยะดา เล่าให้ อีจันฟัง

กินตามมีตามเกิด กินอะไร ?

นี่ไง ดอกเเค ตะไคร้ ผัก ที่มันปลูกง่าย ขึ้นตามรอบรั้ว ทั้งเอามากินเอง เเล้วก็เอาไปขาย ทำทุกทางลูก

ตอนนี้ลูกชายก็สร้างโรงเพราะเห็ดเก็บไม้เก็บสแลนเก่า มาสร้าง แต่ยังไม่ได้ซื้อเห็ดนะ เพราะงบยังไม่เหลือพอ

ภาพที่อีจัน มองซอกแซกไปในบ้าน ของครอบครัวป้าวิยะดา ที่อยู่ในพื้นที่ไม่ใหญ่

มีเพิงอยู่ 2 หลัง เเละห้องนอน 1 ห้อง

เพิงไม่มีฉากกั้น 2 เพิง เป็นที่นอนของผู้ใหญ่ มีมุ้งบางๆป้องกันยุง

ส่วนห้องนอน 1 ห้องนั้น เอาไว้ให้เด็กๆ นอน

ป้าวิยะดาบอก

“เรายอมนอนให้โดนยุงกัด เพื่อให้เด็กๆปลอดภัย เพราะไม่รู้ภัยจะมาหาตัวเราเมื่อไหร่

เป็นห่วงเเค่เด็ก ตัวเองไม่เป็นไรหรอก”

จันขอเข้าไปดูในห้องนอนของเด็กๆ มีเตียง มีที่นอน ถูกจัดอย่างเป็นระเบียบ

ป้าคะ ของใช้ในห้องนี้ เราได้มายังไงเหรอคะ ?

“ที่เห็นในห้องนี้ทั้งหมด คือของเก่าของคนอื่น เเต่มันคือของมีค่าของเรา เก็บมาซ่อมนิดหน่อย ก็ใช้งานได้ดีเลย

พระที่อยู่บนหิ้ง ทุกองค์ ป้าก็เก็บมานะ ป้ายังเห็นเป็นของดีๆอยู่เลย ป้าเอามาขัดให้เงา ก็สวยแบบนี้เเล้ว ดีใจมากเลยนะ ตอนที่ได้มา”

เราแทบไม่เชื่อสิ่งที่ได้ยินเลยค่ะ เพราะพระทุกองค์ ทองอร่าม เงางาม ไม่ทิ้งคราบของเก่าไว้ให้เราเห็นเลย

ป้ายังพาไปดูในครัว เอาหมอ จาน ชาม อุปกรณ์ครัวมาโชว์เรา

“นี่ก็ของเก่านะ มีเก็บมาบ้าง ซื้อจากร้านขายของเก่า 10 20 บาทบ้าง”

ลูกชายวัย 22 ที่ยืนมองอยู่พูดขึ้นว่า “ อะไรที่มันได้พวกเราทั้งหมดเลยครับพี่ขยะก็ไม่รังเกียจเอามาทำนิดหน่อยก็ใช้ได้ดีแล้ว”

ข้อมูลที่อีจันได้รับจากหัวหน้าบ้านพักเด็ก คือ บ้านนี้ไม่มีน้ำประปาใช้ เขาต้องขุดบ่อ เพื่อรองน้ำฝน เเล้วใช้รอกชักขึ้นมาเพื่อเอาน้ำมาใช้

ทำไมไม่ต่อท่อน้ำประปา ?

ปัญหาเดียวของพวกเขาคือ ไม่มีเงิน! เงินที่จะเสียค่าดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ เเละเขามองว่าเงินที่ได้มา เอามาเก็บไว้จ่ายค่าเช่าบ้าน และซื้อข้าวสารไว้ให้คนในครอบครัวกินดีกว่า น้ำตรงนี้ เขาใช้กันได้

แต่ที่เราเห็นคือ น้ำที่ใช้ดำรงชีวิต ไม่ควรเป็นน้ำสีขุ่นเเบบนี้

พี่จันถาม ป้าวิยะดา เเละลูกชายว่า อยากได้ความช่วยเหลืออะไร

สิ่งที่เขาบอกเราคือ อยากได้ห้องน้ำให้เด็กๆ เพราะห้องน้ำที่ใช้ตอนนี้ ใช้ไม่ได้เเล้ว มันเต็มจนแน่น ตอนนี้ก็พยายามทำอยู่ แต่ไม่เสร็จสักที เพราะเงินไม่พอ

ต้องใช้งบกี่บาท ? พี่จันถามกลับ

เเม่ เเละ ลูก เเจง ราคาอุปกรณ์ที่ต้องใช้ ได้อย่างละเอียด ก่อนจะประเมินว่า

2,000 บาท ก็ได้ห้องน้ำดีสำหรับเราเเล้วครับ ผมสร้างเองได้ ผมรับจ้างรับเหมาอยู่

พอจริงนะ ?

พอครับ

แล้วประปาละ อยากได้ไหม ?

ก็อยากได้ครับ แต่ไม่เป็นไร เกรงใจมากๆครับ

พี่จัน พิจารณา เเละตัดสินใจ มอบเงินกองทุนจากสังคมอีจัน ให้ ครอบครัวนี้ 7,000 บาท เพื่อห้องน้ำ เเละ ค่าติดมิเตอร์น้ำ

พร้อมทั้งมอบเงินให้ซื้อหัวเชื้อเห็ด 50 ก้อน โดย หัวหน้าบ้านพักเด็ก จะเป็นผู้จัดหาหัวเชื้อเห็ดให้

เพราะเห็นถึงความตั้งใจดิ้นรนหาเลี้ยงตัวเอง อยู่กันอย่าง มัธยัสถ์

จากที่อีจันได้สัมผัสกับครอบครัวนี้ รู้เลยว่าเขาเลี้ยงลูก เลี้ยงหลานดีมาก ไม่มี ก็รู้ว่าต้องใช้ชีวิตอย่างไม่มี แต่ไม่ด้อยค่าตัวเอง เด็กๆ ทุกคนก็พูดเพราะ น่ารัก เรียบร้อย ที่สำคัญดูเเลป้าวิยะดากันดีมาก

การช่วยเหลือครั้งนี้ต้องขอบคุณสังคมอีจัน ที่ร่วมช่วยกัน หวังว่าการช่วยเหลือเล็กๆน้อยๆ ครั้งนี้สามารถเสริมคุณภาพชีวิตครอบครัวของป้าวิยะดา ให้ดีขึ้นได้บ้างนะคะ

คลิปอีจันแนะนำ
สายแคมป์ปิ้ง ห้ามพลาด!