กรมป่าไม้ ลงพื้นที่ โครงการร้อยใจรักษ์ เขตป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำแม่ฝาง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมป่าไม้ ลงพื้นที่ ตรวจสอบการร้องเรียน กรณีบุกรุก โครงการร้อยใจรักษ์ เขตป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำแม่ฝาง

จากกรณีกระแสข่าวด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในขณะนี้ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการร้องเรียนว่ามีการบุกรุกพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำแม่ฝาง จากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งตลอดทั้งวันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2565) ทีมข่าวอีจัน มีโอกาสลงพื้นที่ ร่วมกับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรแห่งชาติและสิ่งแวดล้อม บริเวณจุดเกิดเหตุ โครงการร้อยใจรักษ์ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำแม่ฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการรุกล้ำ

ทั้งนี้กรมป่าไม้ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากหลายฝ่าย พร้อมสืบทราบ ว่า มีการบุกรุกพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง ตำท่าตอน อำแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

ซึ่ง นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ ได้สั่งการให้หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ หรือ หน่วยพยัคฆ์ไพร สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ส่วนป้องกันดูแลควบคุมไฟป่า และอีกหลายหน่วยงาน เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบ เบื้องต้นพบความเสียหายกับพื้นที่ป่า ดังนี้

-มีการตัดโค่นต้นไม้ โดยพบร่องรอยตอไม้กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่

-มีการปรับไถพื้นที่ป่า เป็นวงกว้าง ประมาณ 24 ไร่ 31ตารางวา

-พบตอไม้หวงห้าม 2 ตอ ถูกโค่นล้ม ประกอบด้วย ตอไม้กระถินป่า และตอไม้กระทุ่มหมู ถูกตัดเป็นท่อนเล็ก ๆ คาดว่ากำลังเตรียมรอการขนย้าย

-พบการขุดสระเก็บน้ำเนื้อที่ 1ไร่ 10 ตารางวา

-โดยรอบมีการเดินสายไฟ เพื่อน้ำไฟฟ้าเข้ามาใช้ในพื้นที่

ทั้งนี้จากการคำนวณพื้นที่ซึ่งถูกบุกรุก ผ่านดาวเทียม เบื้องต้น มีพื้นที่ความเสียหายจำนวน 23 ไร่ 76 ตารางวา (โดยเป็นพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มน้ำแม่ฝางทั้งหมด)

ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันนำเอกสาร พร้อมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเข้าแจ้งความ ที่ สภ.แม่อาย เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และดำเนินการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ มาตรา 25 ตาม พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายการเพิกถอนสิทธิ์ บัญญัติไว้ว่า เมื่อป่าใด ถูกกำหนดให้เป็น ป่าสงวนแห่งชาติ ให้เจ้าพนักงานที่ได้รับการแต่งตั้ง จากรัฐมนตรี มีอำนาจต่อไปนี้

(1) สั่งให้ผู้ใดผู้หนึ่ง ออกจากเขตป่าสงวน หากปรากฎ หรือพบเหตุอันควรสงสัยในการกระทำผิด

(2) ออกหนังสือ ให้ผู้กระทำผิด รื้อถอน แก้ไข สิ่งที่ทำให้ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมสภาพ

(3) ยึด ทำลาย รื้อถอน เมื่อผู้กระทำผิดไม่ปฏิบัติตาม

ส่วนเรื่องนี้ จะมีการดำเนินคดีสิ้นสุดอย่างไร กับใครบ้าง? ทีมข่าวอีจันจะเกาะติด นำความคืบหน้าข่าว มานำเสนออย่างแน่นอน นะคะ