ยื่นหนังสือขอความชัดเจนเรื่อง กะเหรี่ยงบางกลอย

เครือข่ายปกป้องบางกลอย ยื่นหนังสือขอความชัดเจนแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยง ต่อ ธรรมนัส

วันนี้ ( 8มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายภาคี #saveบางกลอย ได้จัดงานเสวนา ชื่อหัวข้อ ก่อนฟ้าจะสาง ที่บางกลอย โดยตัวแทนชาวบ้านบางกลอย นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม และสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

นอกจากนี้ เนื่องเป็นวันสตรีสากล ทางกลุ่มได้ส่งตัวแทนสตรี ยื่นหนังสือร้องเรียนกับทางรัฐบาล แต่อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลไม่มีคนมารับหนังสือรองเรียน จึงได้ทำการเผาหนังสือดังกล่าว

นอกจากนี้ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ภาคตะวันตก ได้เข้าพบ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยื่นหนังสือขอสอบถามความชัดเจนเรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี

โดยเนื้อหาหนังสือดังกล่าว ระบุว่า “ สืบเนื่องจากวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2564 มีการสนธิกำลังใน “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” โดยได้ร่วมกันดำเนินการตรวจยึดพื้นที่บุกรุก แผ้วถาง พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน เพื่อดำเนินคดีบุกรุกป่าตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 มีภารกิจเคลื่อนย้ายผู้บุกรุกพื้นที่แก่งกระจานตามหมายศาลจังหวัดเพชรบุรี ที่ 44/2564 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2564 ในการปฏิบัติการครั้งนี้มีชาวบ้านทั้งหมด 87 ราย ซึ่งมีผู้ที่อยู่ในหมายศาล 22 ราย และที่เหลือไม่อยู่ในหมายศาล ซึ่งอยู่ในฐานความผิดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่อุทยานมาตรา 20 ดำเนินการเปรียบเทียบปรับทั้งหมด 28 ราย ส่วนเด็ก 37 ราย ไม่ได้ดำเนินคดี เนื่องจากเป็นเด็กติดตามพ่อแม่ไปคงไม่มีเจตนาในการเข้าไปบุกรุกแผ้วถาง

แม้ว่าเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ศาลจังหวัดเพชรบุรีอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามผู้ต้องหากลับเข้าไปในพื้นที่ที่ถูกจับ และพื้นที่อุทยานที่ไม่ได้รับอนุญาตเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมในระหว่างพิจารณาคดี และแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นผู้กำกับดูแลเพื่อให้ผู้ต้องหาทั้ง 22 คน ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดโดยเคร่งครัด

อย่างไรก็ตามเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ภาคตะวันตก มีความห่วงกังวลต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ดังนั้นเครือข่ายฯ และภาคี จึงมีข้อเรียกร้องเร่งด่วน ดังนี้

1.ขอให้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ ยืนยันบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน ระหว่าง ตัวแทนรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ภาคี#SAVEบางกลอย และชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 และสั่งการ สนับสนุนให้มีการดำเนินการต่อ

2.ขอให้ประสานงานให้สิทธิในการเข้าถึงทนาย และเครือข่ายฯ ในการช่วยเหลือในระหว่างการขับเคลื่อนคดีความ ทั้งนี้ขอให้คุ้มครองความปลอดภัยทั้งชาวบางกลอย และภาคีที่ชาวบ้านขอความช่วยเหลือ

3.ขอให้ยืนยันว่าชาวบ้านบางกลอย เครือข่ายและภาคีจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ในระยะเร่งด่วนด้วย

4.ขอให้สั่งการให้มีการประชุนของคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี โดยเร่งด่วน.”