เจ้าหน้าที่ อช.แก่งกระจาน แจ้งความดำเนินคดี ผู้บุกรุกป่าแก่งกระจาน

“ขอทำเพื่อป่าแก่งกระจานที่รัก” เจ้าหน้าที่ อช.แก่งกระจาน แจ้งความดำเนินคดี ผู้บุกรุกถางป่าแก่งกระจาน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

ยังไม่จบง่าย สำหรับปัญหาการบุกรุกป่าแก่งกระจาน

วานนี้ 26 ก.พ.2564 นางสาวเนตรนภา งามเนตร ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.แก่งกระจาน เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บุกรุกพื้นที่ป่าแก่งกระจาน

โดยนางสาวเนตรนภา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) เจ้าหน้าที่ส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม เจ้าหน้าที่สำนักงานสนับสนุนการป้องกันปราบปรามที่ 1 (ภาคกลาง) เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ เจ้าหน้าที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 144 เจ้าหน้าที่กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 1 (ค่ายฝึกการรบพิเศษแก่งกระจาน) และเจ้าหน้าที่กองการบิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ป้องกันรักษาอนุรักษ์ทรัพยากรตาม “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร”

โดยได้ร่วมกันดำเนินการตรวจยึด พื้นที่บุกรุก แผ้วถาง พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บริเวณป่าบางกลอยบน หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตรวจพบพื้นที่ที่ถูกบุกรุก แผ้วถางอย่างเห็นได้ชัดเจน จำนวน 18 แปลง เนื้อที่รวม 154-1-22 ไร่ ซึ่งคณะพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมในห้วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 ถึง พ.ศ.2556 ไม่ปรากฏร่องรอยการทำประโยชน์แต่อย่างใด และตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-2 เริ่มพบการแผ้วถางตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. 64 และมีการบุกรุก แผ้วถางเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เห็นได้อย่างชัดเจนจากภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 64 และวันที่ 13 ก.พ. 64

ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ฐานยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทาด้วยประการใดๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม ตามมาตรา 19 (1) แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบมาตรา 41 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีความผิดตามวรรคหนึ่ง ถ้าได้กระทำในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 หรือพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 2 ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือพื้นที่เปราะบางของระบบนิเวศหรือความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งกึ่งหนึ่ง และฐานเก็บหา นำออกไป กระทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งไม้ ดิน หิน กรวด ทราย แร่ ปิโตรเลียม หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใด อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ตามมาตรา 19 (2) แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบมาตรา 42 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานกระทำการหรืองดเว้นกระทำการไม่ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ ผู้นั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ให้เรียกค่าเสียหายตามมาตรา 40 ไปในคราวเดียวกัน ตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 บรรดาระเบียบหรือประกาศใดๆ ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ทั้งนี้คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทำบันทึกการตรวจยึด นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน เพื่อดำเนินการติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาสอบสวนดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามฐานความผิดดังกล่าวข้างต้นต่อไป